ดุษฎีนิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ (๑) เพื่อศึกษาแนวคิดจริยศาสตร์ที่ใช้กับมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นของนักปรัชญา (๒) วิเคราะห์พุทธจริยศาสตร์ที่เกี่ยวกับมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น (๓) เพื่อประยุกต์ใช้พุทธจริยศาสตร์กับมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร
ผลการวิจัยพบว่า แนวคิดจริยศาสตร์ที่ใช้กับมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นของนักปรัชญา มี ๓ กลุ่ม คือ กลุ่มที่ถือว่าสัตว์ไม่มีสถานะทางศีลธรรม (Anthropocentric ethics) กลุ่มที่ถือว่าสัตว์มีสถานะทางศีลธรรมแต่ไม่เท่ากับมนุษย์ (Non- Anthropocentric ethics) และ กลุ่มที่ถือว่าสัตว์มีสถานะทางศีลธรรมที่เท่ากับมนุษย์ทุกประการ (Value-centric ethics) ในเรื่องนี้พุทธจริยศาสตร์จัดอยู่ในกลุ่มที่เชื่อว่า สัตว์มีสถานะทางศีลธรรมเช่นกันแต่ไม่เท่ากับมนุษย์เช่น การใช้สติปัญญาและเหตุผล การบอกว่า มนุษย์เหนือกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นจะทำให้เกิดปัญหาการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างทารุณ และการถือว่าสัตว์เท่ากับมนุษย์ก็จะทำให้การดำเนินชีวิตของมนุษย์เป็นไปได้ยากในปัจจุบัน
ด้วยเหตุผลข้างต้นเมื่อเกิดกรณีอิหลักอิเหลื่อทางศีลธรรม พุทธจริยศาสตร์ที่ให้ถือเอา ศีล ทางสายกลางและกฎแห่งการกระทำเป็นเกณฑ์ในการตัดสินศีลธรรม การประยุกต์ใช้เกณฑ์นี้จะสามารถตอบปัญหาของกลุ่มที่เชื่อว่าสัตว์ไม่สามารถแสดงพฤติกรรมทางศีลธรรมได้ และตอบปัญหาของกลุ่มที่เชื่อว่าสัตว์มีสถานะทางศีลธรรมเท่ากับมนุษย์ บนฐานของเหตุผลที่ว่าสรรพสัตว์มีฐานะเช่นเดียวกับมนุษย์ในฐานะเพื่อร่วมวัฏสงสารไม่ควรถูกฆ่าหรือถูกทำลาย การประยุกต์ใช้พุทธจริยศาสตร์ในลักษณะนี้มีเหตุผลมาจากความสัมพันธ์ในเชิงเกื้อกูลกันทางจริยศาสตร์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งมีชีวิตอื่นที่ปรากฏในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา
งานวิจัยนี้เสนอให้นำองค์ความรู้ไปกำหนดนโยบายของรัฐที่ว่าด้วยการจัดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ สัตว์และสิ่งมีชีวิตอื่น เพราะสิ่งมีชีวิตทุกอย่างล้วนรักสุข เกลียดทุกข์ จึงไม่ควรถูกเบียดเบียนโดยไม่ถูกต้องตามหลักศีลธรรม
Download
|