การศึกษาเรื่อง “การใช้กระบวนการทางปัญญาตามแนวพระพุทธศาสนาเพื่อการรู้เท่าทันสื่อของพระสงฆ์ไทย” มีวัตถุประสงค์เพื่อ (๑) สำรวจการรู้เท่าทันสื่อของพระภิกษุ และสามเณร (๒) ศึกษาหลักธรรมในพระพุทธศาสนาว่าด้วยกระบวนการทางปัญญาเพื่อการรู้เท่าทันสื่อของพระสงฆ์ไทย และ (๓) วิเคราะห์การใช้กระบวนการทางปัญญาในการรู้เท่าทันสื่อของพระสงฆ์ไทย การวิจัยใช้วิธีกระบวนการแบบผสมผสาน (Mixed Method) ซึ่งประกอบด้วยวิธีการเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ ศึกษาหลักธรรมจากพระไตรปิฎก และผู้เชี่ยวชาญด้านพระพุทธศาสนา ด้านการสื่อสารมวลชน และผู้ปฏิบัติงานด้านการสื่อสารมวลชนกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นพระภิกษุสงฆ์ หรือสามเณรในประเทศไทย ที่มีอายุตั้งแต่ ๑๕ ปีขึ้นไป ผลการวิจัยพบว่าพระภิกษุ สามเณร เปิดรับสื่อผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก รองลงมาได้แก่สื่อโทรทัศน์โดยสนใจข้อมูลประเภทสารคดี และข่าว การรู้เท่าทันสื่อของพระภิกษุ สามเณรอยู่ในระดับ “ดี” หลักธรรมที่พระภิกษุ สามเณร เห็นว่ามีความสอดคล้องเหมาะสมกับการพิจารณาข่าวสารข้อมูลก่อนเชื่อได้แก่ โยนิโสมนสิการ และกาลามสูตร โดยความสามารถเชื่อมโยงหลักธรรมเข้ากับการรู้เท่าทันสื่ออยู่ในระดับ “ปานกลาง” หลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้ปัญญาเพื่อการู้เท่าทันสื่อได้แก่หลักปัญญา โยนิโสมนสิการ และกาลามสูตร โดยพระสงฆ์นำหลักโยนิโสมนสิการในการปรับฐานคิดเมื่อรับสื่อและใช้กาลามสูตรเพื่อพิจารณาความน่าเชื่อถือของแหล่งสารตลอดจนตัวสาร โดยกระบวนการทั้งหมดดำเนินบนฐานแห่งสติ ในการนี้ผู้วิจัยได้ทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะประชากรกับความรู้ทางธรรมด้วยค่าสถิติไค-สแวคร์ (Chi-square) พบว่าความรู้จากการศึกษาทางโลกมีผลต่อความเข้าใจในหลักธรรม ได้แก่พระภิกษุ สามเณรที่มีการศึกษาทางโลกสูงมีความเข้าใจในหลักธรรมสูงตามไปด้วย นอกจากนี้ผลการวิจัยยังแสดงว่าอายุพรรษาและอายุจริงไม่มีความสัมพันธ์กับการรู้เท่าทันสื่อ
ข้อเสนอแนะเพื่อการส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อแก่พระภิกษุและสามเณรไทยได้แก่การผนวกบริบททางโลกที่เข้ากับยุคสมัยผสานกับหลักธรรมเกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจนำสู่กระบวนการทางปัญญา อาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อและสถานศึกษาทุกระดับของพระภิกษุ สามเณร เพื่อร่วมขับเคลื่อนสู่การเป็นสังคมแห่งปัญญาต่อไป
Download |