ดุษฎีนิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ ๒ ประการ คือ ๑) เพื่อสร้างโมเดลพลังอำนาจในตนเชิงพุทธที่ส่งผลต่อการเผชิญปัญหาและอุปสรรคของผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ๒) เพื่อศึกษาประสิทธิผลของโมเดลพลังอำนาจในตนเชิงพุทธที่ส่งผลต่อการเผชิญปัญหาและอุปสรรคของผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยใช้รูปแบบการวิจัยและพัฒนา มีขั้นตอนการวิจัย ๒ ขั้นตอน ได้แก่ ๑) การสร้างโมเดล ๒) การศึกษาผลการใช้โมเดล โดยวัดความสามารถในการเผชิญและอุปสรรค กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศจำนวน ๑๔ ราย แบ่งเป็นกลุ่มควบคุม ๗ คนและกลุ่มทดลอง ๗ คน โดยใช้แบบแผนการทดลองสองกลุ่ม ทดสอบก่อนและหลังการทดลอง วิเคราะห์ข้อมูลโดยวิธีการทดสอบ ของวิล คอกซัน และ การทดสอบของครัสคาล และวัลลิส ผลการวิจัยพบว่า
๑) โมเดลพลังอำนาจในตนเชิงพุทธที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นมี ๕ องค์ประกอบ คือ หลักการและแนวคิด วัตถุประสงค์ เนื้อหาสาระ ขั้นตอนการจัดการเรียนการสอน และการวัดประเมินผล โดยมี ๖ขั้นตอนของการเรียนการสอน ได้แก่ ๑.เผชิญปัญหาและอุปสรรค ๒.วางแผนกำหนดเป้าหมาย
๓.ปฏิบัติการแก้ปัญหา ๔.รวบรวมข้อมูลเพื่อสรุป ๕.ประเมินและปรับปรุง ๖.รู้ค่าและเสริมพลัง กับหลักธรรม คือ สติสัมปชัญญะ, ขันติธรรม, อริยสัจ ๔, อิทธิบาท ๔ และพละ ๕
๒) ผลการศึกษาความสามารถในการเผชิญและฟันฝ่าอุปสรรคของผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ พบว่า ๑.ความสามารถในการเผชิญปัญหาและอุปสรรคของผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดกลุ่มทดลอง หลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๕ ๒.ภายหลังการทดลอง ผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดกลุ่มทดลองมีคะแนนจากแบบวัดความสามารถในการเผชิญปัญหาและอุปสรรคสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๕
Download |