การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ๑) เพื่อศึกษาการฝึกสมาธิโดยใช้สติปัฏฐานสี่ใน พระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษาการฝึกสมาธิโดยใช้หลักโยคศาสตร์ในศาสนาพราหมณ์๓) เพื่อเสนอ รูปแบบการฝึกสมาธิโดยบูรณาการสติปัฏฐานสี่กับโยคศาสตร์ การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ โดยมีกลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยผู้ฝึกปฏิบัติจำนวน ๘๐ คน
ผลการศึกษาพบว่า หลักการฝึกสมาธิตามหลักสติปัฏฐานสี่ในพระพุทธศาสนาและโยคศาสตร์ในศาสนาพราหมณ์ มีองค์ความรู้ที่สามารถนำมาบูรณาการเพื่อสร้างรูปแบบการฝึกสมาธิ CHIM YOGA โดยใช้ ๑) อิริยาบถการกราบสติปัฏฐานสี่ การนั่ง การยืน การเดินและการนอน
๒) อิริยาบถการท่าไหว้พระทิตย์และการเคลื่อนไหวร่างกายในทางโยคะ การฝึกสมาธิในรูปแบบ CHIM YOGA ใช้เวลาในการฝึกทั้งสิ้นจำนวน ๑๐ ครั้ง ๆ ละ ๑ ชั่วโมง โดยภายใน ๑ ชั่วโมง แบ่งออกเป็น ๖ ช่วง ช่วงที่ ๑ เป็นการบรรยายความรู้เกี่ยวกับสติปัฏฐานสี่และโยคศาสตร์ และช่วงที่ ๒ ถึงช่วงที่ ๖ เป็นช่วงของการฝึกสมาธิและการประเมินการฝึก
ด้านความรู้ความเข้าใจ พบว่า ผู้ฝึกมีความรู้เรื่องสติปัฏฐานสี่และโยคศาสตร์ในระดับมากที่สุด (𝑥̅= ๔.๗๓) นอกจากนี้ ภายหลังการฝึกผู้ฝึกมีความตระหนักถึงประโยชน์ในด้าน ๑. ด้านจิตใจ สมาธิ ปัญญา (𝑥̅=๔.๖๓) ๒. ด้านร่างกาย (𝑥̅=๔.๖๒) ๓. ด้านสังคม (𝑥̅=๔.๕๓) ในระดับมากที่สุด อีกทั้งผลการเห็นประโยชน์ทั้ง ๓ ด้านทำให้ผู้ฝึกมีความเครียดลดลง กระตุ้นสมาธิและสติปัญญา ส่งเสริมการเห็นคุณค่าของตนเองและความมั่นใจในตนเองมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ฝึกได้ให้ข้อเสนอแนะต่อรูปแบบการฝึกสมาธิ CHIM YOGA ว่าควรมีรูปแบบการฝึกที่เหมาะสมกับกลุ่มผู้ฝึกที่มีพื้นฐานต่างกัน เช่น รูปแบบการฝึกระดับต้น ระดับกลาง และระดับสูง
Download |