ดุษฎีนิพนธ์เรื่องนี้ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพด้านเอกสาร มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาคัมภีร์เนตติปกรณ์ (๒) เพื่อศึกษารูปแบบการอธิบายพระพุทธพจน์ตามแนวเนตติปกรณ์ (๓) เพื่อวิเคราะห์รูปแบบการอธิบายพระพุทธพจน์ตามแนวเนตติปกรณ์
ผลการวิจัยพบว่า คัมภีร์เนตติปกรณ์มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล รจนาโดยพระมหากัจจายนเถระ พระพุทธเจ้าทรงอนุโมทนา และนำขึ้นสู่การสังคายนาครั้งที่ ๑ รักษาสืบทอดมาตามลำดับ หลักการในเนตติปกรณ์ได้รับการอ้างอิงและนำไปใช้ในคัมภีร์อรรถกถาและฎีกาสืบมา โครงสร้างของคัมภีร์จัดไว้อย่างเป็นระบบ มี ๔ ตอน ได้แก่ (๑) สังคหวาระ แสดงเนื้อหาย่อ (๒) อุทเทสวาระ แสดงหัวข้อ (๓) นิทเทสวาระ แสดงขยายความหัวข้อ (๔) ปฏินิทเทสวาระ แสดงการอธิบายโดยละเอียด เนื้อหาของคัมภีร์มี ๓ ส่วน ได้แก่ (๑) หาระ ๑๖ (๒) นัย ๕ (๓) สาสนปัฏฐาน ๑๖ และสาสนปัฏฐาน ๒๘ แสดงหลักการอธิบายพระพุทธพจน์ทั้งด้านพยัญชนะและอรรถะ มุ่งเน้นนำเวไนยสัตว์เข้าสู่มรรค ผล นิพพาน หาระ ๑๖ มุ่งอธิบายสงเคราะห์พระพุทธพจน์ลงอริยสัจ ๔ และยกธรรมฝ่ายอริยมรรคขึ้นแสดงคู่กับการละกิเลส และอธิบายให้ละเอียดพิสดารในแง่มุมต่าง ๆ นัย ๕ มุ่งอธิบายเนื้อความพระพุทธพจน์ แยกธรรมออกเป็น ๒ ฝ่ายคือสังกิเลสกับโวทานให้ชัดเจน แล้วจึงประกอบลงอริยสัจ ๔ โดยมีมูลบท ๑๘ เป็นหลักธรรมพื้นฐานในการอธิบาย ส่วนสาสนปัฏฐานเป็นการจัดหมวดหมู่ พระพุทธพจน์ทั้งหมดโดยอาศัยเนื้อหาสาระเป็นสำคัญ
รูปแบบการอธิบายพระพุทธพจน์ตามแนวเนตติปกรณ์ให้ทำตามลำดับ ดังนี้ คือ (๑) อธิบายด้านพยัญชนะโดยการประกอบหาระ ๑๖ เข้าไปในพระพุทธพจน์ (๒) พิจารณาทิศทางของหลักธรรมทั้งฝ่ายสังกิเลสและฝ่ายโวทาน ด้วยทิสาโลจนนัย (๓) ประกอบหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกัน ด้วยอังกุสนัย (๔) อธิบายเนื้อความของพระพุทธพจน์แยกแยะธรรม ๒ ฝ่ายให้ชัดเจน ด้วยนัย ๓ มีนันทิยาวัฏฏนัยเป็นต้น
เมื่ออธิบายด้านพยัญชนะด้วยหาระ ๑๖ ทำให้มีหลักการอธิบายพระพุทธพจน์ได้ชัดเจนและตรงประเด็น เริ่มจากสงเคราะห์ลงในอริยสัจ ๔ จบลงด้วยการยกธรรมฝ่ายอริยมรรคขึ้นแสดงคู่กับการละกิเลส วิเคราะห์ ตรวจสอบความถูกต้อง และอธิบายให้ละเอียดได้อย่างเป็นระบบ เมื่ออธิบายด้านอรรถะด้วยนัย ๕ ทำให้แยกแยะได้ชัดระหว่างสังกิเลสธรรมกับโวทานธรรม เข้าใจการแยกธรรมเป็น ๒ ฝ่าย มีความชัดเจนในภาเวตัพพธรรมและปหาตัพพธรรม ทำให้เข้าใจทิศทางการเจริญขึ้นของโพธิปักขิยธรรมและทิศทางการหมดสิ้นไปของกิเลส หากอธิบายตามรูปแบบในเนตติปกรณ์นี้ ทำให้เกิดความมั่นใจได้ว่า (๑) พยัญชนะไม่ผิดพลาด เพราะถือเอาเฉพาะบทพยัญชนะที่ตรงกับพระไตรปิฎกเท่านั้น (๒) อรรถะไม่ผิดพลาด เพราะการอธิบายไม่ออกนอกแนวอริยสัจ ๔ ไม่ออกนอกแนวกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยตามแนวปฏิจจสมุปบาท ไม่ออกนอกแนวการปฏิบัติตามหลักอริยมรรคมีองค์ ๘ ไม่มีเรื่องอัตตาตัวตนเข้ามาเกี่ยวข้อง สามารถละกิเลสได้อย่างแน่นอน ทำให้เกิดสัมมาทิฏฐิ ละความเห็นผิด และละการปฏิบัติที่ออกนอกแนวอริยมรรคทั้งหมด นำเข้าสู่ โสดาปัตติมรรค มุ่งไปสู่ความหลุดพ้นต่อไป
Download |