วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ในการศึกษา ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาองค์ความรู้และความเป็นผู้นำในคัมภีร์พระพุทธศาสนา (๒) เพื่อศึกษาบทบาทภาวะของผู้นำในแต่ละด้านของพระธรรมมงคลรังษี (คำบ่อ อรุโณ) ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๘ และ (๓) เพื่อศึกษาผลการวิเครคาะห์บทบาทภาวะความเป็นผู้นำของพระธรรมมงคลรังษี (คำบ่อ อรุโณ) ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๘ ที่มีต่อการพัฒนาสังคมและองค์กรคณะสงฆ์ จังหวัดหนองคาย โดยการศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพ และมีการเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนาม เพื่อนำมาประกอบวิทยานิพนธ์ให้สมบูรณ์ และนำเสนอผลการศึกษาโดยวิธีพรรณนาวิเคราะห์ ผลการวิจัยครั้งนี้พบว่า
บทบาทภาวะความเป็นผู้นำของพระธรรมมงคลรังสี (คำบ่อ อรุโณ) พบว่าท่านใช้หลักธรรมภาวะผู้นำที่ดีกล่าวคือ รู้จักหลักอธิปไตย ๓ หลักพรหมวิหาร ๔ สังคหวัตถุ ๔ พละ ๕ สาราณิยธรรม ๖ ทิศหก อปริหานิยธรรม ๗ และหลักสัปปุริสธรรม ๗ ในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ ๖ ด้าน คือ ๑. ด้านการปกครอง ๒. ด้านการศาสนศึกษา ๓. ด้านการศึกษาสงเคราะห์ ๔. ด้านการเผยแผ่ ๕. ด้านการสาธารณูประโภค และ ๖. ด้านการสาธารณะสงฆ์เคราะห์ ซึ่งสรุปภารกิจลงได้ ๓ ด้าน คือ ด้านวัตถุ ด้านจิตใจและด้านสังคม
(๑) ในด้านวัตถุ พบว่า พระธรรมมงคลรังสี (คำบ่อ อรุโณ) เป็นผู้มีบทบาทภาวะผู้นำด้านวัตถุ โดยท่านได้ช่วยเหลือสงเคราะห์แก่วัดต่างๆ ในเขตปกครอง ตลอดจนภิกษุสามเณรและประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน เท่าที่พระสงฆ์องค์หนึ่งพึงปฏิบัติต่อพุทธบริษัทด้วยกันได้ โดยวัตถุประสงค์สำคัญ คือ บรรเทาความทุกข์ทางกาย แก่ผู้ไปขอความช่วยเหลือจากท่าน ท่านจึงสงเคราะห์เต็มกำลังความสามารถ และเป็นแบบอย่างในฐานะผู้นำที่ดีต่อคนอื่น ตัวอย่างที่ท่านสงเคราะห์เช่น การสร้างอาคารเสนาสนะต่างๆ
(๒) ในด้านจิตใจพบว่า พระธรรมมงคลรังสี (คำบ่อ อรุโณ) เป็นผู้มีบทบาทภาวะผู้นำด้านจิตใจ เพื่อปลูกฝังศีลธรรมสู่พุทธศาสนิกชน ที่แสวงหาความพ้นทุกข์ โดยท่านได้จัดอบรม แสดงธรรม บรรยายธรรม แจกเอกสาร แจกแผ่นบันทึกเสียงเทศน์ เป็นต้นไปสู่วัดต่างๆ เพื่อนำไปแสดงแก่ประชาชนและให้ประชาชนเข้าถึงหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา นอกจากนั้น ยังแสดงธรรมผ่านทางสถานีวิทยุ F.M. ๙๗.๗๕ MHz วัดโพธิชัย พระอารามหลวงและสถานีต่างๆจังหวัดหนองคาย และก็ยังได้จัดกิจกรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น วันวิสาขะบูชา วันมาฆะบูชา โดยมีการปฏิบัติธรรมเพื่อเฉลิมพระเกียรติ การนั่งสมาธิ เจริญเมตตา และการท่องบนสาธยายพระไตรปิฎก เป็นต้น อันเป็นแนวทางให้พุทธศาสนิกชนมีกิจกรรมร่วมกัน และรู้จักคุณค่าในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข ปราศจากการเบียดเบียนหรือประทุษร้ายต่อคนอื่น
(๓) ในด้านสังคม พบว่า พระธรรมมงคลรังสี (คำบ่อ อรุโณ) เป็นผู้มีบทบาทภาวะผู้นำด้านสังคม กล่าวคือ (ก) ในฝ่ายคณะสงฆ์ ท่านได้จัดประชุมปรึกษาหารือกับพระสงฆ์เนื่องๆ เช่น การลงอุโบสถสามัคคีร่วมกันเป็นต้น (ข) ฝ่ายคฤหัสถ์ ท่านได้ให้คำปรึกษาในฐานะของพระสงฆ์ที่เป็นหมอรักษาโรคทางจิตใจ และร่วมมือปฏิบัติกันทุกภาคส่วน การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างองค์กรสงฆ์กับบุคคล หรือระหว่างประชาชนด้วยกัน เป็นต้น ซึ่งผู้ไกล่เกลี่ยในกรณีพิพาทเหล่านี้ จะต้องได้รับการยอมรับกับทุกฝ่าย การเจรจาจึงจะประสบผลสำเร็จ
Download
|