หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » ภัทราวุฒิ ปัญจันทร์สิงห์
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๕ ครั้ง
ศึกษาวิเคราะห์วิถีชีวิตของชาวไทโย้ย ที่สัมพันธ์กับพระพุทธศาสนา อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร
ชื่อผู้วิจัย : ภัทราวุฒิ ปัญจันทร์สิงห์ ข้อมูลวันที่ : ๐๙/๑๐/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  บุญส่ง สินธุ์นอก
  เจษฎา มูลยาพอ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑ มีนาคม ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

 

การวิจัยนี้  มีวัตถุประสงค์  คือ  (๑)  ศึกษาความเป็นมาของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทโย้ย  อำเภออากาศอำนวย  จังหวัดสกลนคร  (๒)  ศึกษาวิถีชีวิตของชาวไทโย้ย  อำเภออากาศอำนวย  จังหวัดสกลนคร  ที่สัมพันธ์กับพระพุทธศาสนา  (๓)  วิเคราะห์วิถีชีวิตของชาวไทโย้ย  อำเภออากาศอำนวย  จังหวัดสกลนคร  ที่มีต่อพระพุทธศาสนา  การวิจัยนี้เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพ (Qualitative Research)  โดยการเก็บข้อมูลจากแบบสัมภาษณ์และเอกสารต่างๆ  ประชากรกลุ่มเป้าหมาย  ได้แก่  พระภิกษุ  ชาวบ้านบ้านอากาศ  อำเภออากาศอำนวย  วิเคราะห์ข้อมูลเชิงพรรณนาวิเคราะห์

ผลการวิจัยพบว่า

 (๑)  พบว่าชาวไทโย้ย  เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีประวัติความเป็นมาของการอพยพมาจากบ้านฮ่อมท้าว  ประเทศลาว  มาตั้งถิ่นฐานอยู่บ้านม่วงริมยาม  เมื่อปี  พ.ศ. ๒๓๙๐  ในสมัยรัชกาลที่  ๒ สาเหตุของการอพยพเนื่องจากต้องการแสวงหาพื้นที่ทำมาหากินและอพยพมาด้วยความสมัครใจไม่ได้ถูกกวาดต้อนหรือขับไล่  โดยได้อพยพข้ามแม่น้ำโขงอาศัยแม่น้ำสงคราม  และลำน้ำยามตามลำดับ  แล้วมาตั้งถิ่นฐานบริเวณที่เรียกว่าบ้านม่วงริมยาม  ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภออากาศอำนวย  และอีกส่วนหนึ่งก็ได้อพยพเคลื่อนต่อไปทางทิศตะวันตกของอำเภออากาศอำนวยเข้าไปอยู่ในอำเภอวานรนิวาส  ชาวโย้ยเข้ามาอาศัยในบ้านม่วงริมยาม  ซึ่งเป็นหมู่บ้านตั้งอยู่ระหว่างเขตจังหวัดสกลนครและจังหวัดนครพนม  (สาเหตุที่เรียกบ้านม่วงริมยามเพราะมีลำน้ำยามไหลผ่าน)  บริเวณนี้เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกมาก  จึงทำให้มีราษฎรจากที่อื่นอพยพเข้ามาอาศัยเป็นจำนวนมากขึ้น  การอาศัยแม่น้ำเป็นเส้นทางการคมนาคม  ปัจจุบันชาวไทโย้ยยังตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตอำเภออากาศอำนวย  และอำเภอวานรนิวาส

 (๒)  ชาวไทโย้ยเป็นชนเผ่าหนึ่งที่อพยพมาจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง  การนับถือศาสนาของชาวไทโย้ยนั้นนำเอาศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์  รวมถึงศาสนาอื่นๆ  เช่น  ศาสนาผี  (ลัทธิบูชา – วิญญาณ)  และในขณะเดียวกันก็นำพิธีทางศาสนาและลัทธิความเชื่อที่ตนเคยนับถือมาด้วย  เช่น  การบ๊ะ  เป็นต้น  จะสังเกตเห็นได้จากการวางแผนสร้างวัด  เริ่มแรกท่านก็สร้างวัดกลาง  วัดทุ่ง  วัดจอมแจ้ง  วัดไตรภูมิ  วัดศรีโพนเมืองและวัดอุดมรัตนาราม  ตามลำดับ  ชาวไทโย้ย  มีการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองทั้ง  ๔  ด้าน  คือ  ๑.  ด้านศาสนาธรรมคำสอน  ๒.  ด้านศาสนบุคคล  ๓.  ด้านศาสนวัตถุ  ๔.  ด้านศาสนพิธี  ชาวไทโย้ยจึงนำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ  อีกทั้งมีนิสัยรักความสงบ  ไม่ชอบความรุนแรง  รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา  อาชญากรรมมีน้อย  ชาวไทโย้ยจึงพากันอยู่เย็นเป็นสุข

 (๓)  พบว่าปัจจุบันสังคมสมัยใหม่ได้แพร่เข้าสู่หมู่บ้าน  ทำให้ประเพณีเก่าๆ  เริ่มสูญหายไปบ้างเพราะคนในสังคมมุ่งเน้นในเรื่องของการดำเนินชีวิต  การทำมาหากินตามระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม  ประเพณีเกี่ยวกับชีวิตซึ่งเป็นประเพณีของชาวไทโย้ยบ้านอากาศยังมีการยึดถือปฏิบัติ  เช่น  ประเพณีการเกิดที่มีการผูกแขน  การบวชที่มีการทำขวัญ  การแต่งงานที่มีบายศรี  และการตายที่มีการสวดทำบุญแผ่ส่วนกุศลแล้งฝังหรือเผาหรือเก็บกระดูก  จากข้อมูลที่ได้พบว่าทุกๆ  ประเพณีดังกล่าวมีการปฏิบัติต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน  เพราะส่วนใหญ่ทำตามประเพณี  ส่วนหนึ่งทำแล้วสบายใจและอีกส่วนหนึ่งทำเพื่อความเป็นสิริมงคลต่อชีวิต  ในกลุ่มชาวไทโย้ยนี้เป็นกลุ่มที่มีความขยันหมั่นเพียรในการทำงาน  มีความเป็นอยู่ในการดำเนินชีวิตอย่างมัธยัสถ์  มีรูปแบบแนวทางวัฒนธรรมเป็นของตนเอง  ชาวไทโย้ยนั้นนับถือศาสนาพุทธ  ทำให้มีอิทธิพลต่อกรอบการดำเนินชีวิตและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในความเป็นอยู่และเกิดการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม  ซึ่งชาวไทโย้ยบ้านอากาศยังคงลักษณะเด่นเป็นเอกลักษณ์และคุณลักษณะต่างๆ  ของชาติพันธุ์เดิมที่ได้รับสืบทอดมา

 

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕