หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาประเสริฐ ภทฺทจาโร (ยาตำนาน)
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๗ ครั้ง
ศึกษาวิเคราะห์คติธรรมและคุณค่าของคัมภีร์มหาวิบากฉบับล้านนา
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาประเสริฐ ภทฺทจาโร (ยาตำนาน) ข้อมูลวันที่ : ๐๙/๑๐/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูสิริปริยัตยานุศาสก์
  เทพประวิณ จันทร์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๙ มกราคม ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์  ๑) เพื่อศึกษาประวัติและพัฒนาการของคัมภีร์มหาวิบากในล้านนา ๒) เพื่อศึกษาเนื้อหาสาระคัมภีร์มหาวิบากฉบับล้านนา ๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์คติธรรมและคุณค่าของคัมภีร์มหาวิบากฉบับล้านนา การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ  โดยการสัมภาษณ์เชิงลึก รูปแบบการวิจัยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้การวิจัยเอกสารและการสัมภาษณ์ พื้นที่วิจัย คือจังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มตัวอย่างคือ พระสงฆ์ผู้ทรงคุณวุฒิ ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้รู้ด้านคัมภีร์ และมัคนายก ใช้วิธีการคัดเลือกแบบการมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์ วิเคราะห์ สังเคราะห์ แล้วบรรยายเชิงพรรณนา

ผลการวิจัยพบว่า

๑. คัมภีร์มหาวิบากฉบับล้านนา มีเนื้อหาเกี่ยวกับผลการกระทำของเศรษฐีผู้หนึ่งที่ไม่มีบุตร ดังเรื่องราวที่ปรากฏในทุติยอปุตตกสูตร ทั้งมีลักษณะการแต่งเช่นเดียวกับจูฬกัมมวิภังคสูตร มีจุดประสงค์เพื่อสอนเรื่องกรรม โดยพบฉบับที่เก่าที่สุดเท่าที่สำรวจพบ จารใน พ.ศ. ๒๓๙๕ ฉบับที่ใหม่ที่สุด พ.ศ.๒๕๒๐  โดยพบคัมภีร์ในช่วง พ.ศ. ๒๔๐๐-๒๕๐๐ เป็นปริมาณมาก

๒. เนื้อหาสาระคัมภีร์มหาวิบากแบ่งเป็น ๓ ช่วง ได้แก่ ๑.นิทานวจนะ เป็นข้อความเบื้องต้นของคัมภีร์ แสดงความนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้า ๒.เนื้อหาคัมภีร์ อยู่ในช่วงกลาง ประกอบด้วยเรื่องที่พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลถามพระพุทธเจ้า ถึงชีวิตเศรษฐีผู้หนึ่งในเมืองสาวัตถี ที่แม้จะร่ำรวยแต่ยังพึงพอใจในการใช้ชีวิตอย่างอัตคัด และเรื่องผลกรรมที่ทำให้ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ๓.นิคมวจนะในช่วงท้ายคัมภีร์ แสดงนัยสำคัญว่าเนื้อหาของคัมภีร์มหาวิบากนี้ ได้มาจากพระไตรปิฎก

๓. มหาวิบากได้สะท้อนคติธรรมเรื่องกรรมและผลของกรรมเป็นหลัก ทั้งยังสะท้อนคุณค่าทางสังคมของชาวล้านนาที่เชื่อว่า มหาวิบากสามารถช่วยให้ผู้ใกล้ตายหรือวิญญาณผู้ตาย พ้นไปจากวิบากกรรมได้ อันก่อให้เกิดประเพณีเกี่ยวกับความตายของชาวล้านนา และสะท้อนคุณค่าทางด้านภาษา คือ ช่วยรักษาการใช้ภาษาไทยล้านนา และการพัฒนาเนื้อหาวรรณกรรมมหาวิบากให้สอดคล้องกับบริบทสังคมปัจจุบัน

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕