งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชนเข้มแข็งในประเทศไทย ๒) เพื่อศึกษาบทบาทของพระสงฆ์ต่อการพัฒนาชุมชนเข้มแข็งเชิงพุทธ ๓) เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาชุมชนเข้มแข็งของพระสงฆ์นักพัฒนาจังหวัดลำปาง รูปแบบการวิจัยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ พื้นที่วิจัย คือ พระภิกษุสงฆ์ในจังหวัดลำปาง โดยมีผู้ให้ข้อมูลสำคัญ ด้วยวิธีการเจาะจง พระสงฆ์นักพัฒนาทั้ง ๖ ด้าน ๖ รูป เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยมี ๒ ชนิด คือ ๑) ศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง ๒) การสัมภาษณ์เชิงลึก วิเคราะห์ข้อมูลโดยการใช้การวิเคราะห์ สังเคราะห์และเขียนบรรยายเชิงพรรณนา
ผลการวิจัย พบว่า ๑) การพัฒนาชุมชมเข้มแข็งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบนพื้นฐานของความ
มีจิตสำนึกมีส่วนในการพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาชนบท การพัฒนาอุตสาหกรรม การพัฒนาชุมชน การพัฒนาศึกษา จนถึงการแก้ไขปัญหาอื่น ๆ ที่เกิดในชุมชน ทำให้ชุมชนมีความสามารถที่พึ่งตนเองได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ๒) การพัฒนาชุมชนตามการปฏิบัติกิจการคณะสงฆ์ทั้ง ๖ ด้าน
คือ การปกครอง ศาสนศึกษา ศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่ สาธารณูปการ และสาธารณสงเคราะห์ พร้อมทั้งศีลธรรม จริยธรรม เชิงพุทธอื่น ๆ ทั้งด้านกาย จิตใจ สติปัญญา สังคม เพื่อนำไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชนในลำดับต่อไป ๓) การพัฒนาชุมชนเข้มแข็งของพระสงฆ์นักพัฒนาจังหวัดลำปาง ในการพัฒนาคณะสงฆ์ คือการจัดสรรงบประมาณที่มีอย่างจำกัดให้เป็นประโยชน์มากที่สุดโดยเน้นเรื่องหลัก ๆ ที่จะพัฒนาคณะสงฆ์ เช่นเรื่องการศึกษาธรรม ศึกษาบาลี ซ่อมแซมส่งเสริมสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อคณะสงฆ์ ช่วยอบรมเผยแผ่หลักธรรม อนุเคราะห์และสงเคราะห์ ด้านการศึกษา การช่วยเหลือประชาชนทั้งจิตใจ และสังคมทางวัตถุในรูปแบบต่าง ๆ หาสิ่งกระตุ้นที่จะทำให้คณะสงฆ์ทำงานได้อย่างว่องไว ชัดเจน จัดการให้เจ้าอาวาสทุกวัดอบรมหาความรู้เรื่องพระธรรมวินัย กฎหมาย
กฎมหาเถรสมาคม ระเบียบ หาวิธีแก้ไขข้อขัดแย้งของคณะสงฆ์และบ้าน อบรมให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการเคารพกัน รู้จักมีการพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อคณะสงฆ์ ช่วยกันสอดส่องดูแลให้ทั่วถึง สิ่งเหล่านี้ที่มีความโดดเด่นในแต่ละด้าน เพื่อหวังให้คณะสงฆ์จังหวัดลำปาง และประชาชนในชาติมีความรักและเทิดทูนในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และเสริมสร้างให้มีความเจริญ โดยใช้กลไกทางพระพุทธศาสนา ในการพัฒนาชุมชนสืบไป
Download
|