หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระพิชัย ปิยสีโล (อินต๊ะซาว)
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๓ ครั้ง
การสร้างพลังชุมชนของครูบาศรีวิชัย
ชื่อผู้วิจัย : พระพิชัย ปิยสีโล (อินต๊ะซาว) ข้อมูลวันที่ : ๐๙/๑๐/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ปกรณ์ มหากันธา
  พระครูสิริสุตานุยุต
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๘ มีนาคม ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

การศึกษาวิจัยเรื่อง “การสร้างพลังชุมชนของครูบาศรีวิชัย” มีวัตถุประสงค์ คือ              ๑) เพื่อศึกษาภูมิหลังการพัฒนาชุมชนของครูบาศรีวิชัย ๒) เพื่อศึกษารูปแบบการพัฒนาชุมชนของครูบาศรีวิชัย ๓) เพื่อวิเคราะห์รูปแบบการสร้างพลังชุมชนของครูบาศรีวิชัย เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) ศึกษาจากการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) ผู้วิจัยเลือกผู้ให้สัมภาษณ์ จากกลุ่มผู้ที่ให้ข้อมูลสำคัญ (Key informants) จำนวน ๑๑ รูป/คน

ผลการวิจัยพบว่า สภาพบริบททางสังคมสมัยครูบาศรีวิชัย ด้านการเมืองการปกครอง            ครูบาศรีวิชัยเกิดท่ามกลางระหว่างความเปลี่ยนแปลงทางหัวเมืองทางภาคเหนือของรัฐสยาม ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากมณฑลเทศาภิบาลยุครัชกาลที่ ๕ ไปสู่ระบอบใหม่ยุคคณะราษฎร ๒๔๗๕ ซึ่งเป็นช่วงชีวิตที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยกำลังขับเคลื่อนการเป็นผู้นำชุมชนต่อต้านอำนาจส่วนกลาง การลดทอนอำนาจของกลุ่มเจ้านายฝ่ายเหนือลง ส่งผลให้มีการต่อต้านวัฒนธรรมสยามในวงกว้าง และมีการอนุรักษ์ฟื้นฟูวัฒนธรรมล้านนาขึ้นมาใหม่ ส่วนหนึ่งแสดงออกผ่านการร่วมสนับสนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามของครูบาศรีวิชัย ด้านเศรษฐกิจ เศรษฐกิจในสมัยนั้นเป็นเศรษฐกิจแบบยังชีพ บทบาททางเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับพ่อค้าวัวต่าง พ่อค้าเหล่านี้มักเป็นชาวจีนฮ่อ ไทใหญ่ และพม่า ที่เดินทางติดต่อค้าขายกันระหว่างล้านนา กับจีนและมะละแหม่งในพม่า ด้านการศาสนา ในช่วงชีวิตของครูบาเจ้าศรีวิชัย รัฐบาลสยามได้ทําการปฏิรูปคณะสงฆ์ทั่วประเทศให้เป็นหนึ่งเดียว ด้วยการออกพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ โดยรวมศูนย์อํานาจไปขึ้นกับมหาเถร สมาคม พระราชบัญญัตินี้ มีผลต่อสงฆ์ทั่วประเทศ ให้ปฏิบัติตาม และให้ยกเลิกจารีตดั้งเดิมของท้องถิ่นหากขัดกับพระราชบัญญัติ

 

รูปแบบการพัฒนาชุมชนของครูบาศรีวิชัย พบว่ามี ๖ ประการ ได้แก่ ๑) การสร้างศรัทธา ความเป็นต๋นบุญในตัวของครูบาศรีวิชัย ศรัทธาจากวัตรปฏิบัติ ศรัทธาจากการพ้นมลทินข้อกล่าวหา ศรัทธาวาจาสัจ ๒) ความต้องการของชุมชน เป็นความต้องการโดยส่วนรวม อาทิเช่น การสร้างบูรณะซ่อมแซมศาสนสถาน วัด วิหาร เจดีย์ การสร้างสาธารณประโยชน์ ได้แก่ ทางขึ้นดอยสุเทพ สะพานข้ามแม่น้ำปิง ๓) การมีส่วนร่วมชุมชน มีแรงสนับสนุนจากภายในชุมชนและภายนอกชุมชน             ๔) การประชาสัมพันธ์ เกิดการกระจายข้อมูลข่าวสารในวงกว้าง ๕) แรงสนับสนุนเครือข่ายของประชาชน ๖) ภาวะความเป็นผู้นำ มีวิสัยทัศน์ มีการวางแผนที่เป็นระบบ

วิเคราะห์รูปแบบการสร้างพลังชุมชนของครูบาศรีวิชัย พบว่า เป้าหมายหลักท่านมุ่งบำเพ็ญตนเพื่อไปเป็นพระพุทธเจ้า ส่วนประชาชนร่วมกันสั่งสมบุญเพื่อไปสวรรค์ นิพพาน หรือพบพระศรีอริยเมตไตรยในอนาคต หลักการสร้างพลังชุมชนของครูบาศรีวิชัย เป็นการยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง อุทิศตนเพื่อมุ่งพัฒนาชุมชนจากแหล่งที่ขาดความเจริญให้ได้รับการพัฒนา หรือตามที่ประชาชนต้องการพัฒนา หลักการสร้างพลังชุมชนจึงอยู่บนฐานของประโยชน์ส่วนบุคคล ประโยชน์ผู้อื่น และประโยชน์ส่วนรวม

วิธีการสร้างพลังชุมชนของครูบาศรีวิชัย การสร้างพลังความคิดที่ถูกต้องให้กับประชาชน การส่งเสริมพลังความคิดที่ถูกต้องให้กับประชาชน การสร้างแนวความคิดที่ถูกต้องให้กับประชาชน การสร้างพลังการทํางานของประชาชนจะเป็นระบบที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวผลักดันให้เกิด กิจกรรมพัฒนาขึ้นภายในชุมชน และสามารถสร้างความเจริญให้แก่ประเทศชาติได้ในที่สุด

รูปแบบการสร้างพลังชุมชนของครูบาศรีวิชัย ได้แก่ ๑) การมีปณิธานมุ่งมั่นแน่วแน่            เพื่อจะบำเพ็ญตนเป็นพระพุทธเจ้า ๒) ความศรัทธาในตัวผู้นำ เชื่อในบารมีของผู้นำว่าจะทำได้สำเร็จ ๓) ความเสียสละ เป็นความเสียสละของผู้นำและผู้ร่วมพัฒนาชุมชน ๔) เมตตา มีความปรารถนาดีด้วยจิตใจอันบริสุทธิ์ ๕) ภูมิปัญญาและเทคโนโลยี เป็นการผสมผสานระหว่างความรู้เดิมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ๖) เครือข่าย เครือข่ายของศิษย์ยานุศิษย์ เจ้านาย คหบดีพ่อค้าวาณิชทั้งชาวจีนและชาวไทใหญ่ ชาวล้านนา และชาวกะเหรี่ยง ๗) การมีสัจจะ มีจิตใจแน่วแน่ที่จะทำให้สำเร็จ

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕