วิทยานิพนธ์เรื่องศึกษาการพัฒนาสำนักปฏิบัติธรรมตามหลักสัปปายะในพระพุทธศาสนาของวัดสันก้างปลา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ มีวัตถุประสงค์ในการศึกษา ๓ ประการ คือ ๑. เพื่อศึกษาแนวคิดและหลักสัปปายะในพระพุทธศาสนา ๒. เพื่อศึกษาแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประสิทธิภาพและการบริหารจัดการสำนักปฏิบัติธรรมในประเทศไทย ๓. เพื่อศึกษาวิเคราะห์การพัฒนาสำนักปฏิบัติธรรมตามหลักสัปปายะ ในพระพุทธศาสนาของวัดสันก้างปลา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
ผลการศึกษาพบว่า สัปปายะคือ สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ที่มาเกื้อกูลในการประพฤติปฏิบัติธรรม ให้เป็นไปด้วยความสบายกาย สบายใจ เพื่อเป็นการพัฒนาตนเองจนบรรลุคุณงามความดีหรือเข้าถึงมรรคผลนิพพานตามหลักพระพุทธศาสนา ประกอบไปด้วย อาวาสสัปปายะ โคจรสัปปายะ ภัสสสัปปายะ ปุคคลสัปปายะ อิริยาปถสัปปายะ โภชนสัปปายะ และอุตุสัปปายะ
แนวคิดที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการสำนักปฏิบัติธรรมในประเทศไทย ผลการวิจัยพบว่า สำนักปฏิบัติธรรมในประเทศไทยมีสภาพแวดล้อมที่สะอาด ร่มรื่น สวยงาม มีการบริหารการจัดการที่มีกลยุทธ์ในพัฒนาที่หลากหลาย เพราะเป็นงานที่ต้องอาศัยเทคนิค และวิธีการที่ชาญฉลาดในการบริหาร และความรู้ของผู้ที่เป็นเจ้าสำนักปฏิบัติธรรม รวมถึงบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับสำนักปฏิบัติธรรมได้รับการพัฒนาให้เป็นผู้มีคุณวุฒิทั้งในด้านปริยัติ และมีประสบการณ์ในด้านการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ
ผลการวิเคราะห์การพัฒนาสำนักปฏิบัติธรรมตามหลักสัปปายะของวัดสันก้างปลา พบว่าวัดสันก้างปลามีการพัฒนาวัดอย่างเหมาะสมให้เป็นไปตามหลักสัปปายะ ๗ ประการ กล่าวคือ ๑. อาวาสสัปปายะ หลักการจัดระเบียบที่อยู่อาศัย วัดมีอาคารสถานที่ ที่เหมาะสมกับการปฏิบัติธรรม สะอาด สงบ ปลอดภัย และมีสถานที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ สามารถรองรับผู้คนได้ทุกเพศ ทุกวัย
๒. โคจรสัปปายะ หลักการเลือกทำเล การเดินทางมายังวัดมีความสะดวก มีป้ายบอกทางที่ชัดเจน ง่ายต่อการเดินทาง ตั้งอยู่ไม่ใกล้แหล่งชุมชนจนเกินไป ๓. ภัสสสัปปายะ หลักการจัดระเบียบการสื่อสาร วัดมีหลักสูตรการปฏิบัติธรรมที่หลากหลายตลอดทั้งปี มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่สามารถเข้าถึงได้หลากหลาย ๔. ปุคคลสัปปายะ หลักกัลยาณมิตรหรือสร้างคน พระภิกษุ-สามเณร ปฏิบัติเป็นต้นแบบที่ดี ผู้ปฏิบัติธรรมปฏิบัติตนตามกฎระเบียบของทางวัด ๕. อิริยาปถสัปปายะ หลักการพัฒนาร่างกาย มีการปฏิบัติธรรมที่เหมาะสม และมีความพอดี ๖. โภชนสัปปายะ หลักการทางโภชนาการ มีการจัดการด้านโภชนาการ สะอาด ปลอดภัย ถูกสุขอนามัย ๗. อุตุสัปปายะ หลักการพัฒนาสิ่งแวดล้อม ภูมิทัศน์ภายในวัดสะอาด สวยงาม อากาศดี เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม และผลการศึกษาการพัฒนาสำนักปฏิบัติธรรมของวัดสันก้างปลา ยังพบว่า สำนักปฏิบัติธรรมวัดสันก้างปลามีความชัดเจน ในการกำหนดหลักสูตรและกระบวนการฝึกอบรมผู้ที่มาปฏิบัติธรรม จนสามารถได้รับประโยชน์สูงสุดจากการปฏิบัติธรรม รวมถึงวัดสันก้างปลายังมีนโยบายที่ชัดเจนในการพัฒนาวัด
ให้เป็นสำนักปฏิบัติธรรมที่สมบูรณ์แบบได้
Download
|