วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ของการวิจัย ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาของจารึกหลาบเงิน พระนางวิสุทธิเทวี (๒) เพื่อศึกษาอิทธิพลความเชื่อเกี่ยวกับจารึกหลาบเงิน พระนางวิสุทธิเทวี ที่มีต่อชุมชนบ้านแปะ ตำบลบ้านแปะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ (๓) เพื่อวิเคราะห์คุณค่าอิทธิพลความเชื่อเกี่ยวกับจารึกหลาบเงิน พระนางวิสุทธิเทวี ที่มีต่อชุมชนบ้านแปะ ตำบลบ้านแปะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยทำการรวบรวมข้อมูล จากหนังสือ ตำรา เอกสารทางวิชาการ งานวิจัยที่เกี่ยวข้องทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ และการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ
ผลการศึกษาพบว่า พระนางวิสุทธิเทวี เป็นกษัตริย์ราชวงศ์มังรายองค์ที่ ๑๘ เป็นองค์สุดท้ายในราชวงศ์มังราย (พ.ศ. ๒๑๐๗ - ๒๑๒๑) เป็นยุคสมัยอาณาจักรล้านนาราชวงศ์มังราย ล่มสลาย อยู่ภายใต้การปกครองของพม่า ในรัชสมัยพระนางได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และได้สร้าง วัดราชวิสุทธาราม (วัดบ้านแปะ ในปัจจุบัน) ในปี พ.ศ. ๒๑๑๐ พระนางวิสุทธิเทวี ได้โปรดให้ แสนหลวงดาบเรือน หมื่นหลวงเชา และหมื่นต้องแต้ม สร้างจารึกหลาบเงิน พร้อมทั้งตราราชลัญจกรและตราสังฆราชลัญจกร ขึ้นเพื่อพระราชทานแก่ชาวบ้านแปะ เนื้อหาจารึกหลาบเงิน กล่าวถึงการกัลปนาข้าวัด คือการให้ชาวบ้านแปะและชุมชนใกล้เคียง ให้ดูแลรักษาปฏิสังขรณ์ วัดราชวิสุทธาราม เงินภาษีที่เกิดจากที่เช่าที่นาพระราชทานให้นำมาบำรุงวัด และห้ามผู้มีอำนาจบ้านเมืองเข้ามารบกวนชาวบ้านแปะ ไม่ให้เกณฑ์แรงงานชาวบ้านแปะ ไปรับราชการ ให้ชาวบ้านแปะได้อยู่ดูแลรักษา วัดราชวิสุทธาราม
อิทธิพลความเชื่อเกี่ยวกับจารึกหลาบเงิน พระนางวิสุทธิเทวี ที่มีต่อชุมชนบ้านแปะ ตำบลบ้านแปะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ พบอิทธิพลความเชื่อดังนี้ ๑) อิทธิพลความเชื่อต่อจารีตประเพณี ๒) อิทธิพลความเชื่อต่อการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ๓) อิทธิพลความเชื่อทางสังคม ๔) อิทธิพลความเชื่อต่อการสร้างความสัมพันธ์ทางชาติพันธ์ภายในชุมชน
คุณค่าของจารึกพระนางวิสุทธิเทวี ที่มีต่อชุมชนบ้านแปะ ตำบลบ้านแปะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ มี ๕ ด้าน คือ ๑. คุณค่าด้านพิธีกรรม ทำให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชุมชน เยียวยาปัญหาจากอำนาจเหนือธรรมชาติ อนุรักษ์จารีตวัฒนธรรมชุมชน ๒. คุณค่าด้านพระพุทธศาสนา ทำให้เกิดอุบายในการสร้างกุศลตามหลักพระพุทธศาสนา อนุรักษ์ศาสนสถาน จรรโลงพระพุทธศาสนา ๓. คุณค่าด้านขนบธรรมเนียมประเพณี สร้างความสัมพันธูในชุมชนให้แน่นแฟ่น ก่อให้เกิดธรรมเนียมปฏิบัติที่ดีงาม เกิดความหวงแหนและอนุรักษ์ประเพณี ๔. คุณค่าด้านจิตใจและสังคม เกิดสำนึกรักในรากเหง้าของตน เกิดกฏเกณฑ์ระเบียบทางสังคม ๕. คุณค่าด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
Download
|