วิทยานิพนธ์เรื่อง แนวทางการประยุกต์ใช้หลักอิทธิบาท ๔ ในการจัดการเรียนการสอนวิชาสังคมศึกษาของโรงเรียนเทศบาลวัดศรีสุพรรณ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาหลักอิทธิบาท ๔ ในพระพุทธศาสนาเถรวาท (๒) เพื่อศึกษาบริบทการจัดการเรียน การสอนวิชาสังคมศึกษาสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ - ๖ โรงเรียนเทศบาลวัดศรีสุพรรณ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ (๓) เพื่อศึกษาแนวทางการประยุกต์ใช้หลักอิทธิบาท ๔ ในการจัดการเรียนการสอนวิชาสังคมศึกษาสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ - ๖ โรงเรียนเทศบาลวัดศรีสุพรรณ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ผลการวิจัยพบว่า
อิทธิบาท ๔ ในพุทธศาสนาเถรวาทนั้นเป็นหลักธรรมที่จะนำพาผู้ปฏิบัติไปสู่ความสำเร็จ อิทธิบาท ๔ เป็นธรรมที่มีอุปการะแก่งานทุกชนิด ตั้งแต่งานของผู้ครองเรือนจนถึงงานของผู้บำเพ็ญสมถวิปัสสนากรรมฐาน เป็นธรรมสำหรับความสำเร็จซึ่งต้องใช้ในการทำงานและเป็นธรรมที่ให้ถึงอิทธิ (ฤทธิ์) หรือความสำเร็จ แปลง่ายๆ ว่าเป็นหนทางแห่งความสำเร็จ มี ๔ อย่าง คือ ฉันทะ (พอใจ) วิริยะ (ความเพียร) จิตตะ (ความคิดจดจ่อ) และวิมังสา (ความสอบสวนไตร่ตรอง) โดยสรุปก็คือ มีใจรัก พากเพียรทำ เอาจิตฝักใฝ่ และใช้ปัญญาสอบสวน ทั้งหมดนับเป็นสิ่งที่ทำให้บุคคลประสบกับความสำเร็จในสิ่งที่ตนเองปรารถนาต้องการ
โรงเรียนเทศบาลวัดศรีสุพรรณมีการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานปีพุทธศักราช ๒๕๕๑ โดยจัดการศึกษากลุ่มวิชาสังคมศึกษา ๘๐ ชั่วโมง ต่อปีการศึกษา ประกอบด้วย ๕ สาระวิชา คือ ศาสนาศีลธรรม หน้าที่พลเมือง เศรษฐศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และประวัติศาสตร์ โดยมีการนำเอาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเข้ามาปรับใช้ในบริบทการจัดการเรียนการสอน มีการประยุกต์ใช้หลักอิทธิบาท ๔ ด้วยการสอดแทรกเข้าไปในกระบวนการจัดการเรียนการสอนวิชาสังคมศึกษาทั้ง ๔ ด้าน คือ ๑) ด้านกระบวนการเรียนรู้ ๒) ด้านสื่อการเรียนรู้ ๓) ด้านกิจกรรมการเรียนรู้ ๔) ด้านการวัดผลและประเมินผลการเรียนรู้ ซึ่งหลักอิทธิบาท ๔ นี้ เป็นธรรมะที่ทำให้ประสบความสำเร็จในการเรียนรู้ ผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอนจึงให้ความสำคัญ และส่งเสริมความรู้ในด้านอิทธิบาท ๔ ซึ่งเป็นหลักธรรม ที่นำไปใช้ในการศึกษาเล่าเรียนของนักเรียน เพื่อให้เกิดผลสำเร็จและมีประสิทธิภาพ
การประยุกต์ใช้หลักอิทธิบาท ๔ พบว่านักเรียนใช้หลักอิทธิบาท ๔ เพื่อเป็นแนวทางการเรียนให้ประสบความสำเร็จ โดยมีผู้บริหารสถานศึกษาครูผู้สอนและบิดามารดาคือต้นแบบในการผลักดันให้นักเรียนใช้หลักธรรมข้อนี้มาเป็นแนวทางในการศึกษา ซึ่งทางผู้บริหารสถานศึกษาได้มีการส่งเสริมให้ครูผู้สอนใช้หลักอิทธิบาท ๔ หรือหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเข้าไปบูรณาการ ในสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาด้วยการประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนทั้ง ๔ ด้าน ประกอบด้วย ๑) ด้านกระบวนการเรียนรู้ ๒) ด้านสื่อการเรียนรู้ ๓) ด้านกิจกรรมการเรียนรู้ ๔) ด้านการวัดผลและประเมินผลการเรียนรู้ ทั้งนี้ครูผู้สอนได้มีการนำเอาหลักอิทธิบาท ๔ มาใช้ทบทวนความรู้ในขั้นนำการสอนเพื่อชี้ให้นักเรียนพบกับความสำเร็จด้านการเรียนและการทำงาน รวมทั้งคุณลักษณะด้านจริยธรรมของนักเรียนสามารถพัฒนาได้สูงขึ้นและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
Download |