วิทยานิพนธ์เรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาหลักไตรสิกขาในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท (๒) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขัง เรือนจำจังหวัดน่าน (๓) เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักไตรสิกขา สำหรับผู้ต้องขัง เรือนจำจังหวัดน่าน
การวิจัยนี้เป็นการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยมีวิธีดำเนินการวิจัย คือศึกษาข้อมูลจากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการสังเกตการณ์และการสัมภาษณ์เชิงลึกเจ้าหน้าที่ และผู้ต้องขังเรือนจำจังหวัดน่าน จำนวน ๔๕ คน โดยใช้เทคนิควิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ
ผลการวิจัยพบว่า หลักไตรสิกขาในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทประกอบด้วย ศีล สมาธิ และปัญญา เป็นหลักการศึกษาและปฏิบัติแบบบูรณาการเพื่อฝึกกาย วาจา และยกระดับจิตใจและสติปัญญาให้สูงขึ้น ส่งผลให้เกิดคุณภาพชีวิตทั้งในระดับปัจเจกและระดับสังคม
ปัญหาและอุปสรรคการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังเรือนจำจังหวัดน่าน พบว่า ผู้ต้องขังส่วนใหญ่ ยังขาดการพัฒนาด้านพฤติกรรมโดยเฉพาะการมีวินัย ด้านจิตใจโดยเฉพาะความเครียดและวิตกกังวล และด้านปัญญาโดยเฉพาะความรู้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตให้เป็นสุข นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคภายนอก เช่น ขาดแคลนอาคารสถานที่ในการใช้จัดกิจกรรมที่เหมาะสม เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานมีน้อยและปฏิบัติงานหลายหน้าที่ การฝึกอบรมที่ต้องรับมือกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
แนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักไตรสิกขาสำหรับผู้ต้องขัง เรือนจำจังหวัดน่าน พบว่ามีการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาด้านพฤติกรรมตามหลักศีล โดยจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อการฝึกระเบียบวินัย การพัฒนาจิตโดยการปฏิบัติสมาธิ เช่น ปฏิบัติสมาธิตามหลักสูตรสัคคสาสมาธิ และด้านปัญญาเป็นการจัดหลักสูตรการศึกษาเพื่อให้เกิดความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม
Download |