วิทยานิพนธ์เรื่องศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างหลักไตรลักษณ์กับหลักความผาสุกทาง
จิตวิญญาณ ประกอบด้วยวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาหลักไตรลักษณ์ในพระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษาเรื่องความผาสุกทางจิตวิญญาณ และ ๓) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างหลักไตรลักษณ์กับความผาสุกทางจิตวิญญาณ
ผลการศึกษาพบว่า ไตรลักษณ์ในพระพุทธศาสนา หมายถึง ลักษณะสามประการหรือ อาการที่เป็นเครื่องกำหนดหมายให้รู้ถึงความจริงของสภาวธรรมทั้งหลาย ที่เป็นอย่างนั้นๆ คือ
๑. ความเป็นของไม่เที่ยง ๒. ความเป็นทุกข์หรือความเป็นของคงทนอยู่มิได้ และ ๓. ความเป็นของมิใช่ตัวตน ลักษณะเหล่านี้เป็นของแน่นอน เป็นกฎธรรมชาติ มีอยู่ตลอดเวลา หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธรรมนิยาม
ความผาสุก หมายถึง ลักษณะภายในของบุคคลที่แสดงออกถึงความสมบูรณ์พร้อม แบ่งออกเป็นสองอย่าง คือ ความผาสุกทางกายและความผาสุกทางจิตวิญญาณ ความผาสุกทางจิตวิญญาณ จึงเป็นจิตที่โน้มไปทางความดี ความมีสิริมงคล จิตที่เปี่ยมด้วยความเมตตา กรุณา ที่อยากให้คนอื่นมีความสุข ความผาสุกทางจิตวิญญาณทางพระพุทธศาสนาประกอบด้วยการให้ทาน รักษาศีล การเจริญสติ ภาวนา การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เป็นต้น ใจเป็นสุขสามารถพิจารณาไตร่ตรองถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างถ่องแท้ ส่งผลทำให้สามารถพัฒนาตนเองให้มีความเข้มแข็ง
จากการศึกษาทั้งสองประเด็นขั้นต้นทำให้ทราบว่าความสัมพันธ์ระหว่างหลักไตรลักษณ์กับความผาสุกทางจิตวิญญาณ มีความเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องในกันและกันอย่างแยกไม่ออก ประกอบไปด้วยความผาสุกที่เกิดขึ้นต้องเป็นความผาสุกทั้งกายและใจ มีความรู้แจ้งและเข้าใจ สุขสบาย ใจจะหยุดนิ่ง จะทำใจให้หลุดพ้นและเป็นอิสระได้มากขึ้น ใช้ปัญญาพิจารณาความเป็นไปตามเหตุปัจจัย รวมทั้งเกิดการยอมรับว่าชีวิตมนุษย์ทุกคนล้วนตกอยู่ใต้กฎไตรลักษณ์
Download |