หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » เตชิน อิสระภาณุวงค์
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๔ ครั้ง
ศึกษาการบรรลุธรรมของฆราวาสที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา
ชื่อผู้วิจัย : เตชิน อิสระภาณุวงค์ ข้อมูลวันที่ : ๐๘/๑๐/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาอินทร์วงค์ อิสฺสรภาณี
  ชญาน์นันท์ อัศวธรรมานนท์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

   วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาคือ (๑) เพื่อศึกษาฆราวาสที่บรรลุธรรมที่ปรากฏในพระไตรปิฎก (๒) เพื่อศึกษาหลักธรรมที่ส่งผลให้ฆราวาสบรรลุธรรมที่ปรากฏในพระไตรปิฎก           และ (๓) เพื่อวิเคราะห์การบรรลุธรรมของฆราวาสที่ปรากฏในพระไตรปิฎก

 

 

 

 

   จากการศึกษาพบว่า การบรรลุธรรมเป็นเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาเพื่อการเข้าถึงพระนิพพาน มีศัพท์บาลีที่เป็นไวพจน์กันหลายศัพท์ เช่น ปฏิเวธ อธิคโม ปัตติ อภิสมโย สัจฉิกิริยา ญาณทัสสนะ และวิโมกข์ ในภาษาไทยมีความหมายถึง การเข้าถึงสภาวะอันประเสริฐ (อริยะ)                แบ่งออกเป็น ๔ ระดับ คือ โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี และอรหันต์ ภาวะของการบรรลุธรรมสามารถจำแนกออกเป็น ๓ ด้าน คือ ภาวะทางปัญญา ภาวะทางจิต และภาวะทางความประพฤติหรือการดำเนินชีวิตที่จะมีความแตกต่างจากปุถุชน ฆราวาสที่บรรลุธรรมที่ปรากฏในพระไตรปิฎกมีเป็นจำนวนมากและได้รับการยกย่องเช่นเดียวกับนักบวชที่บรรลุธรรม เนื่องจากมีเกณฑ์ของการบรรลุธรรมที่เหมือนกันคือศักยภาพในการละสังโยชน์ ๑๐ ประการ สำหรับหลักธรรมที่ส่งผลให้ฆราวาสบรรลุธรรมนั้นโดยพื้นฐานได้แก่ อนุปุพพิกถา อริยสัจ ๔ ส่วนในระดับที่สูงกว่านั้นพระพุทธเจ้าจะแสดงตามจริตของแต่ละคน เช่น สังขารกถา การละกามคุณ กถาว่าด้วยการตัดราคะ และอินทรียสังวร เป็นต้น

 

   การเทศนาธรรมของพระพุทธเจ้านั้นมีความสมบูรณทั้งศาสตร์ คือ องค์ความรู้ และศิลป์ คือ เทคนิคการแสดงธรรม จำแนกธรรมออกเป็น ๒ ลักษณะ คือ หลักธรรมพื้นฐาน หมายถึง หลักธรรมที่ผู้บรรลุธรรมส่วนมากได้ฟังเหมือนกัน และเป็นปกติที่พระพุทธเจ้าจะแสดงหลักธรรมนี้ ได้แก่ อนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ ซึ่งเป็นวิธีการสอนในแบบอนุสาสนีปาฏิหาริย์ คือ การแสดงไปตามลำดับ และหลักธรรมพิเศษที่ทำให้บรรลุธรรมชั้นสูง เป็นการที่พระพุทธเจ้าทรงเลือกที่จะแสดงธรรมเพื่อโปรดบุคคลตามจริตของแต่ละบุคคล เพื่อให้บรรลุธรรมตามที่ปรากฏในเครือข่ายแห่งพระญาณ

สำหรับสถานะของฆราวาสที่บรรลุธรรม พบว่า ในพระพุทธศาสนาเรียกผู้บรรลุธรรมว่า อริยบุคคล ในส่วนของฆราวาสแม้จะบรรลุธรรมก็ยังต้องดำเนินชีวิต ประกอบธุรกิจการงานตามแบบของฆราวาส แต่มีแนวทางการดำเนินชีวิตที่ยกระดับขึ้นมาจากคนธรรมดาทั่วไป เพราะความสามารถในการละสังโยชน์ได้ตามที่ตนบรรลุธรรม ที่โดดเด่นคือความมั่นคงในพระรัตนตรัย ในศีล สมาธิและปัญญา ยกเว้นในระดับพระอรหันต์ที่ต้องอุปสมบทหรือปรินิพพานในวันนั้นและภพหน้าของพระอรหันต์ย่อมไม่ปรากฏ

 

   แนวทางปฏิบัติของฆราวาสเพื่อการบรรลุธรรม ได้แก่ การปฏิบัติตนตามหลักไตรสิกขา         คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา ให้สมบูรณ์ อีกประการหนึ่งคือการปฏิบัติตามหลักอนุปุพพิกถา ๕ ขั้น ประกอบด้วยขั้นทานกถา ขั้นศีลกถา ขั้นสัคคกถา ขั้นกามาทีนวกถา และขั้นเนกขัมกถา

Download

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕