การศึกษาวิจัยเรื่อง ความเชื่อเรื่องเทวดาที่มีอิทธิพลต่อสังคมล้านนา โดยมีวัตถุประสงค์คือ ๑) เพื่อศึกษาเทวดาในคัมภีร์พระไตรปิฎก ๒) ศึกษาความเชื่อเรื่องเทวดาในสังคมล้านนา ๓) เพื่อวิเคราะห์อิทธิพลความเชื่อเรื่องเทวดาที่มีต่อสังคมล้านนา โดยศึกษาข้อมูลจากตำราวิชาการทางพระพุทธศาสนา รวมถึงสัมภาษณ์จากผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน
ผลจากการศึกษาพบว่าเทวดาตามความหมายในทางพระพุทธศาสนา ก็คือ ผู้ที่อาศัยอยู่ในเทวโลก เทวดาผู้ชายคือเทพบุตร เทวดาผู้หญิงคือ เทพธิดา อาศัยอยู่ในชั้นสวรรค์มี ๖ ชั้น จึงมีชื่อเรียกว่า ฉกามาพจร ซึ่งมีความหมายถึง ภพภูมิที่ยังติดอยู่ในบ่วงกามตัณหา ยังมีความอยาก ความใคร่ มีการจุติ เกิด ดับ คล้ายปุถุชนเหมือนดังโลกมนุษย์ ดังที่มีปรากฏยืนยันในคัมภีร์พระพุทธศาสนา คือ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก และนอกจากนั้นในทางพระพุทธศาสนายังสามารถแบ่งแยกย่อยลงไปเป็นอีก ๓ ประเภทคือ สมมุติเทพ อุบัติเทพ และวิสุทธิเทพ โดยการอุบัติขึ้นมาของเทวดานั้นเกิดมาจาก ผลบุญที่ได้เพียรกระทำสั่งสมเอาไว้ และอาศัยคุณธรรมเบื้องต้น คือ หิริ โอตตัปปะ นำพาให้ไปเกิดบนสรวงสวรรค์ชั้นต่างๆ ได้เสวยทิพย์สมบัติของเทวดา แต่กระนั้นเทวดาก็สามารถจุติดับลงจากภพสวรรค์ได้เช่นกัน หากหมดบุญหรืออายุขัยในเทวโลกลงแล้ว
ความเชื่อเรื่องเทวดาที่ปรากฏในสังคมไทย ได้รับอิทธิพลจากคติทางความเชื่อจากบรรพบุรุษตั้งแต่สมัยโบราณ มาจากวิวัฒนาการของความเชื่อทางจิตวิญญาณในธรรมชาติ ก่อให้เกิดคติความเชื่อในการนับถือ ผีสาง นางไม้ เทวดา สอดคล้องกับหลักการปฏิบัติในทางลัทธิความเชื่อดั้งเดิม และศาสนาพราหมณ์ฮินดู จึงได้สร้างความสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นในสังคมแต่ละด้าน เช่นอิทธิพลต่อวรรณกรรม ศิลปกรรมด้านต่างๆ อธิ จิตรกรรม ประติมากรรม และได้ถูกผสมผสานแลกเปลี่ยนไปตามกาลเวลาและยุคสมัยในเวลาต่อมา
ชาวล้านนามีความเชื่อในเรื่องของเทวดา จากคำสอนในทางพระพุทธศาสนา และอิทธิพลจากที่มาของความเชื่อดั้งเดิมล้านนาเป็นหลักสำคัญ ที่เชื่อและอาศัยในสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เพื่อใช้เป็นแนวทางการดำเนินชีวิต อีกทั้งใช้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ จึงส่งผลให้ชาวล้านนามุ่งเน้นที่จะประกอบการบุญการกุศล นอกจากนี้ก็ยังมีความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติ เช่น ภูตผี วิญญาณ เทพเจ้า เหล่าเทวดา เวทย์มนต์คาถา และยังมีความเคารพยำเกรงต่อเทวดา หรือที่ชาวล้านนาเรียกว่า “ผี” สามารถแบ่งแยกเป็นประเภทได้เป็น ๓ ประเภท โดยการยกย่องจากลำดับผี ขึ้นสู่ความเป็นเทวดาชั้นสูง คือ ผีฟ้า เทวดาอารักษ์ และผีบรรพบุรุษ เกิดเป็นความสัมพันธ์ทางสังคมล้านนา จึงปรากฏเป็นหลักฐานให้เห็นเด่นชัดทั้งใน รูปแบบด้านประเพณี พิธีกรรม และในทางวรรณกรรม ศิลปกรรมด้านต่างๆ นาฏกรรม นำมาซึ่งผลผลิตทางความเชื่อ ที่ขยายไปสู่สังคมล้านนา ทั้งด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ที่มีผลต่อค่านิยมของคนรุ่นใหม่ ที่มีทั้งเชื่อและไม่เชื่อเรื่องเทวดาที่ได้รับอิทธิพลมาจากความเชื่อเรื่องเทวดานั่นเอง
ประโยชน์ที่ก่อเกิดจากความเชื่อเรื่องเทวดา ที่มีอิทธิพลต่อสังคมล้านนา คือการปฏิบัติชอบ เพียรทำความดี และละเว้นความชั่ว ไม่หลงมัวเมาไปกับการทำผิดบาปทั้งหลาย ถึงแม้ว่าสังคมล้านนาจะมีเอกลักษณ์และคุณค่าทางประเพณีดีอยู่แล้ว แต่หากผู้ที่นำไปเผยแผ่บอกต่อ หรือทำตามกันอย่างผิดๆ จนเกิดเป็นค่านิยมที่ผิดต่อคนในสังคมเสียแล้ว อาจทำให้สังคมเสื่อมถอยลงไปและยากต่อการจะแก้ไขฟื้นฟูให้กลับมาดีได้เหมือนเดิม และท้ายที่สุดควรอาศัยความเชื่อเรื่องเทวดา เพื่อการพัฒนาตนเองและสังคม ด้วยการใช้เป็นศูนย์รวมแห่งความศรัทธา ช่วยเหลือเยียวยาจิตใจเมื่อขาดกำลังใจ หรือสูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเองลงไปเท่านั้น แต่ไม่ควรให้สำคัญเกินกว่าหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา จนเกิดเป็นวิกฤตทางศรัทธาขึ้นมาได้
Download |