วิทยานิพนธ์เรื่อง วิเคราะห์หลักพุทธจริยธรรมที่ปรากฏในวรรณกรรมจามเทวีวงศ์ มีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ คือ ๑. เพื่อศึกษาวรรณกรรมจามเทวีวงศ์ ๒. เพื่อศึกษาหลักพุทธจริยธรรมในพุทธศาสนาเถรวาท ๓. เพื่อวิเคราะห์หลักพุทธจริยธรรมที่ปรากฏในวรรณกรรมจามเทวีวงศ์ งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ ผลการศึกษาพบว่า
ก. วรรณกรรมจามเทวีวงศ์
ผลการวิจัยพบว่า จามเทวีวงศ์ เป็นคัมภีร์ทางพุทธศาสนาและจัดเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ประเภทพงศาวดาร ผสมผสานระหว่างเรื่องเล่าเชิงประวัติศาสตร์และเรื่องเล่าเชิงพุทธศาสนา เช่น พุทธพยากรณ์การเกิดนครใหญ่ในอนาคต ซึ่งต่อมาคือกรุงหริภุญไชยหรือจังหวัดลำพูนในปัจจุบัน รวมถึงเป็นวรรณกรรมที่เล่าถึงความเป็นมาของกรุงหริภุญไชย นับตั้งแต่สมัยพุทธกาลจนถึงสมัยพระเจ้าอาทิตยราชพระมหากษัตริย์ที่ปรากฏ ทั้งนี้ยังให้ความสำคัญต่อบทบาทของพระนางจามเทวีในฐานะปฐมกษัตริย์แห่งกรุงหริภุญไชยด้วย
ข. หลักพุทธจริยธรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาท
ผลการวิจัยพบว่า หลักพุทธจริยธรรมทางพระพุทธศาสนาเถรวาท มีหลักคำสอนที่จัดอยู่ในจริยธรรมที่เป็นพื้นฐานในดำเนินชีวิต ประกอบไปด้วย ๑. พุทธจริยธรรมขั้นพื้นฐาน คือ ศีล ๕ เป็นเครื่องช่วยควบคุมพฤติกรรมหรือความประพฤติของมนุษย์ให้ตั้งอยู่ในทางที่ดี ๒. พุทธจริยธรรมขึ้นกลาง คือ กุศลกรรมบถ ๑๐ หนทางแห่งการไปสู่ความดีซึ่งเป็นคุณธรรมที่พัฒนาต่อยอดจากศีลอีกขั้น ๓. มรรค ๘ หนทางแห่งความดับทุกข์ หนทางที่ดำเนินตามแล้วทำให้หลุดพ้นจากความทุกทั้งปวงอย่างสิ้นเชิง ดังที่พุทธองค์ได้ดำเนินปฏิบัติมา
ค. หลักพุทธจริยธรรมที่ปรากฏในวรรณกรรมจามเทวีวงศ์
หลักพุทธจริยธรรมที่ปรากฏในวรรณกรรมจามเทวีวงศ์ที่เห็นชัดเจนคือ พุทธจริยธรรมขั้นพื้นฐาน คือ ศีล ๕ และพุทธจริยธรรมขั้นกลาง คือ กุศลกรรมบถ ๑๐ ในส่วนของพุทธจริยธรรมขั้นสูงคือ มรรค ๘ นั้นไม่ปรากฏให้เห็นเด่นชัดในวรรณกรรมจามเทวีวงศ์ เนื่องจากวรรณกรรมจามเทวีวงศ์เป็นวรรณกรรมที่กล่าวถึงการสร้างเมือง เนื่องจากมรรค ๘ เป็นแนวทางในการพัฒนาตนเองเพื่อไปสู่ความดับทุกข์แต่จามเทวีวงศ์เป็นเรื่องของการปกครองของกษัตริย์ที่ใช้หลักพุทธจริยธรรมในพระพุทธศาสนาในการปกครองบ้านเมือง
Download |