วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาหลักพุทธธรรมเกี่ยวกับ
การเรียนรู้ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา (๒) เพื่อศึกษาสภาพการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ โรงเรียนนิธิวิทย์ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน (๓) เพื่อวิเคราะห์หลัก
พุทธธรรมในการเรียนรู้วิชาภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ โรงเรียนนิธิวิทย์
อำเภอเมือง จังหวัดน่าน
การวิจัยนี้เป็นการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยมีวิธีดำเนินการวิจัย คือ ศึกษาข้อมูลจากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการสัมภาษณ์และการสังเกตการณ์ ผลการวิจัยพบว่า
หลักพุทธธรรมที่เกี่ยวกับหลักการเรียนรู้ประกอบด้วยหลักกัลยาณมิตร ๗ ประการสำหรับครูผู้สอน ได้แก่ เป็นผู้น่ารัก เป็นผู้น่าเคารพ เป็นที่เจริญใจ เป็นผู้สามารถว่ากล่าวตักเตือน เป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำได้ เป็นผู้ที่กล่าวถ้อยคำหรือเรื่องที่ลึกซึ้งได้ และไม่ชักจูงไปในทางเสียหาย หลักอิทธิบาท ๔ สำหรับครูผู้สอน คือ มีความศรัทธาในวิชาชีพครู มีความเพียรพยายามในการสอน มีการเอาใจใส่ในการสอน และหมั่นตรวจสอบปรับปรุงการสอนของตน หลักอิทธิบาท ๔ สำหรับนักเรียน ได้แก่ ความสนใจในการเรียน ขยันเรียน เอาใจใส่ไม่ละทิ้งการเรียน และหมั่นพิจารณาทบทวนผลการเรียน นอกจากนี้ยังมีพุทธวิธีการสอน ๔ อย่าง ได้แก่ (๑) การสอนแบบสากัจฉาหรือการสนทนา (๒) การสอนแบบบรรยาย (๓) การสอนแบบตอบปัญหา (๔) การสอนแบบวางกฎข้อบังคับ
สภาพการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ โรงเรียนนิธิวิทย์พบว่า โรงเรียนจัดให้มี English Program ที่เน้นการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษประกอบด้วย (๑) ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร (๒) วัฒนธรรมการใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร (๓) การใช้อังกฤษเพื่อเชื่อมโยงความรู้กับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น และ ๔) ภาษาอังกฤษที่สัมพันธ์กับสถานการณ์โลก ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน โดยใช้สื่อประกอบการสอนที่เหมาะสมและทันสมัย
จากการวิเคราะห์หลักพุทธธรรมในการเรียนรู้วิชาภาษาอังกฤษของนักเรียน
ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ โรงเรียนนิธิวิทย์ พบว่า ครูผู้สอนมีความเป็นกัลยาณมิตร มีน้ำใจที่ดีงาม เอื้อเฟื้อ เกื้อกูลทั้งประโยชน์ตนและผู้อื่น ช่วยชี้แนะ บอกกล่าว สั่งสอน มีการสนับสนุนให้นักเรียนนำความรู้ ความคิด ทักษะต่าง ๆ ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับการเรียนและดำเนินชีวิตของนักเรียนแต่ละคน นอกจากนี้ยังพบหลักอิทธิบาท ๔ สำหรับครู คือ ครูมีความรักในการสอน มีความขยัน มีความเอาใจใส่ในการสอน หมั่นศึกษาเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาตนอย่างสม่ำเสมอ ในส่วนอิทธิบาท ๔ ของนักเรียน พบว่า รักในการเรียนภาษาอังกฤษ มีความขยัน เอาใจใส่ในการเรียน และหมั่นพิจารณาทบทวนบทเรียนอย่างสม่ำเสมอ ในส่วนของวิธีการสอนที่สอดคล้องกับพุทธวิธี ๔ แบบนั้น พบว่า ๑) การสอนแบบสากัจฉาหรือสนทนา มีการฝึกทักษะการฟังและการโต้ตอบสนทนา (Conversation) ทั้งแบบกลุ่มและตัวต่อตัว ๒) การสอนแบบบรรยาย มีการบรรยายอธิบายเนื้อหาเพื่อให้เข้าใจในหลักการ (Lecture) ๓) การสอนแบบตอบปัญหา มีการเปิดโอกาสให้ถาม หรือตั้งคำถามให้ตอบ (Question and Answer) และ ๔) การสอนแบบวางกฎข้อบังคับ มีการตั้งกติกาในชั้นเรียน เช่น ให้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักในชั้นเรียน และส่งการบ้านตามกำหนด
Download |