วิทยานิพนธ์เรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาชีววิถีในบริบทปัจจุบัน ๒) เพื่อศึกษาโครงการชีววิถี เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ๓) เพื่อวิเคราะห์การบูรณาการพุทธธรรม ในโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง การวิจัยครั้งนี้เป็นงานวิจัยแบบคุณภาพ พื้นที่วิจัยคือชุมชนรอบการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อำเภอแม่เมาะ เลือกศึกษาชุมชนบ้านสบจาง ตำบลนาสัก กลุ่มเป้าหมายคือกลุ่มผู้ดำเนินการของโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง รวมจำนวน ๓ คน กลุ่มชุมชนบ้านสบจาง ตำบลนาสัก ผู้นำท้องถิ่น ๑ คน และแกนนำเกษตรกร ๑๐ คน รวมจำนวน ๑๑ คน กลุ่มพัฒนาชุมชนและศูนย์การเรียนรู้ ได้แก่ เจ้าหน้าที่การศึกษานอกโรงเรียน ปราชญ์ชาวบ้านด้านเกษตรกรรมหรือหมอดิน รวมจำนวน ๒ คน เครื่องมือใช้ในการวิจัย ๓ ชนิด ได้แก่ ๑. การสังเกตแบบมีส่วนร่วม ๒. การการสัมภาษณ์เชิงลึก ๓. การสนทนากลุ่ม ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การวิเคราะห์ สังเคราะห์ แล้วเขียนบรรยายเชิงพรรณนา
ผลการวิจัยพบว่า ๑) ชีววิถีในบริบทปัจจุบันปรับกระบวนทัศน์สู่ความมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ประยุกต์ใช้แนวทางชีววิถีในชีวิตประจำวัน รวมทั้งการดำเนินกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจ มีเป้าหมายร่วมกันสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ๒) โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมวิถีเกษตรปลอดสารพิษในชุมชนหมู่บ้านสบจาง ๓) บูรณาการหลักอิทัปปัจจยตา ด้วยการมองตามเหตุปัจจัยของสรรพสิ่ง มีความเกี่ยวเนื่องต่อกันและกันไม่สิ้นสุด จึงหยั่งรู้คุณค่าการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดปัญหามลภาวะของโลก โดยวิถีแห่งปัญญาพัฒนาวิถีการดำเนินชีวิตและจิตใจในระดับคุณธรรม
Download |