วิทยานิพนธ์เรื่อง “ศึกษาบุคลิกภาพตามแนวจริต 6 ของนิสิตคณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ห้องเรียนวัดไชยชุมพลชนะสงคราม จังหวัดกาญจนบุรี” มีวัตถุประสงค์ 2 ข้อ คือ 1. เพื่อศึกษาทฤษฎีบุคลิกภาพ และจริต 6 ในพระพุทธศาสนาเถรวาท และ 2. เพื่อศึกษาบุคลิกภาพตามแนวจริต 6 ของนิสิตคณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ห้องเรียนวัดไชยชุมพลชนะสงคราม จังหวัดกาญจนบุรี” ใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) พร้อมกับทำการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับนิสิตคณะพุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ห้องเรียนวัดไชยชุมพลชนะสงคราม จังหวัดกาญจนบุรีจำนวน 7 รูป/คน สรุปผลการศึกษาวิจัยได้ ดังนี้
ผลการวิจัยพบว่า บุคลิกภาพ หมายถึง ลักษณะเฉพาะของบุคคล เช่น รูปร่าง หน้าตา กิริยา ท่าทาง มารยาท การแต่งกาย การแสดงออก การพูด การคิด ความรู้สึกนึกคิด ทัศนคติ ความต้องการทางอารมณ์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะแสดงออกมาในรูปแบบของพฤติกรรมของบุคคลผู้นั้นเสมอ
ส่วน จริต 6 ในพระพุทธศาสนาเถรวาท สรุปความหมายได้ว่า จริต หมายถึง ความประพฤติของคน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านร่างกาย ด้านวาจา รวมถึงด้านจิตใจ เป็นลักษณะ นิสัย บุคลิกภาพ พฤติกรรม ของแต่ละบุคคล ส่งผลให้เกิดจริตที่แตกต่างกัน ในการวิจัยนี้ ผู้วิจัยสรุปความหมายของ จริต 6 แบ่งได้ ดังนี้ 1. ราคจริต ผู้มีราคะเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปในทาง รักสวยรักงาม) 2. โทสจริต ผู้มีโทสะเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปในทางใจร้อน โกรธง่าย) 3. โมหจริต ผู้มีโมหะเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปในทางซึมเศร้า ไม่มีความคิดเป็นของตนเอง) 4. สัทธาจริต ผู้มีศรัทธาเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปในทางเชื่อง่าย ไม่ค่อยพิจารณา) 5. พุทธิจริต ผู้มีความรู้เป็นความประพฤติปกติ (หนักไปในทางคิดพิจารณา มักใช้ปัญญาคิดเรื่อง ต่าง ๆ ก่อนเสมอ) และ 6. วิตกจริต ผู้มีวิตกเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปในทางคิดจับจด ลังเล ไม่มีความมั่นใจ) จริตทั้ง 6 ประเภทนี้ บางครั้ง บุคคลคนเดียวอาจมีลักษณะหลาย ๆ จริต รวมกันได้ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ เช่น คนรักสวย รักงาม อาจเป็นคน หูเบา เชื่อคนง่าย คือมีลักษณะของราคจริตและโมหจริตรวมกัน ในแต่ละจริตนั้นก็จะมีลักษณะเด่นและลักษณะด้อย อยู่ร่วมกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยรอบข้างที่จะแสดงส่วนใดออกมา บางครั้งจริตที่ภาพรวมเป็นจริตที่ดี เช่น พุทธิจริต มีข้อเสียอยู่ด้วยเช่นกัน เช่น การใช้ปัญญา คิดเรื่องต่าง ๆ มาก อาจทำให้ไม่กล้าตัดสินใจเพราะมัวแต่คิดอยู่นั่นเอง เป็นต้น
ผลจากการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึงผู้เกี่ยวข้อง จำนวน 7 รูป/คน สรุปได้ว่า บุคลิกภาพตามแนวจริต 6 ของนิสิตคณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ห้องเรียนวัดไชยชุมพลชนะสงครามนั้น ผู้ตอบแบบสัมภาษณ์ให้คำตอบว่า มีปะปนกันไปทั้ง 6 จริต ส่วนใหญ่จะเป็นโทสจริต เพราะนิสิตส่วนใหญ่มีวัยในระดับวัยรุ่นโดยส่วนมาก ส่วนจริตอื่น ๆ จะมีปรากฏออกมาบ้างตามแต่สถานการณ์นั้น ๆ ส่งผลสำคัญให้บุคลิกภาพมีความแตกต่างกันไป เพราะมีสถานภาพ เพศ อายุ รวมถึงสิ่งแวดล้อมเป็นตัวชี้วัดด้วย จะเห็นได้ว่า ควรนำหลักธรรมต่าง ๆ มาปรับใช้กับตนเอง เพื่อพัฒนาบุคลิกภาพ แก้ไขจริต เพราะบุคลิกภาพและจริต 6 เป็นปัจจัยพื้นฐานของความสำเร็จสำหรับชีวิตมนุษย์
Download |