วิจัยเรื่อง วิเคราะห์แรงจูงใจของพุทธศาสนิกชนในการปฏิบัติธรรม ณ วัดมัชฌันติการาม เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร มีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ คือ ๑) เพื่อศึกษาแรงจูงใจในพระพุทธศาสนาและทฤษฎีแรงจูงใจในศาสตร์สมัยใหม่ ๒) เพื่อศึกษาสภาพการปฏิบัติธรรมของวัดมัชฌันติการาม เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร และ ๓) เพื่อวิเคราะห์แรงจูงใจของพุทธศาสนิกชนในการปฏิบัติธรรม ณ วัดมัชฌันติการาม เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยศึกษาจากเอกสารและการสัมภาษณ์เชิงลึก
ผลการวิจัยพบว่า แรงจูงใจในทางพระพุทธศาสนาไม่มีการบัญญัติศัพท์ไว้ในพระไตรปิฎก จากการค้นคว้าในชั้นทุติยภูมิ พบว่า อธิบายเรื่องของแรงจูงใจว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับความอยากหรือความต้องการ ซึ่งมีความหมายคล้ายกับแรงจูงใจในศาสตร์สมัยใหม่ที่กล่าวว่า มูลเหตุจูงใจสำคัญของบุคคล คือ ความต้องการ ซึ่งความต้องการในทางกุศล ที่เรียกว่า ฉันทะ เป็นแรงจูงใจที่ส่งผลให้บุคคลตัดสินใจในการปฏิบัติธรรม ทั้งนี้ วัดมัชฌันติการามมีการปฏิบัติธรรม ณ ห้องปฏิบัติธรรม ชั้น ๑ อาคารโรงเรียนพระปริยัติธรรม ทุกวันพระและวันอาทิตย์ โดยปฏิบัติตามแนวอานาปานสติ บริกรรม พุท-โธ ซึ่งมีปัจจัยที่ส่งผลต่อแรงจูงใจของพุทธศาสนิกชนในการปฏิบัติธรรม ณ วัดมัชฌันติการาม จำนวน ๖ ด้าน คือ ๑) ด้านอาวาสสัปปายะ ๒) ด้านโคจรสัปปายะ ๓) ด้านภัสสสัปปายะ ๔) ด้านปุคคลสัปปายะ ๕) ด้านอุตุสัปปายะ และ ๖) ด้านอิริยาปถสัปปายะ ส่วนด้านโภชนสัปปายะไม่เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อแรงจูงใจของพุทธศาสนิกชนในการปฏิบัติธรรม ณ วัดมัชฌันติการาม
Download |