หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นันทนิษฎ์ สมคิด
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๓ ครั้ง
แนวทางการพัฒนาชุมชนสร้างสรรค์ในเขตพื้นที่จังหวัดจันทบุรี (สาขาวิชาการพัฒนาสังคม)
ชื่อผู้วิจัย : นันทนิษฎ์ สมคิด ข้อมูลวันที่ : ๐๔/๑๐/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  โกนิฏฐ์ ศรีทอง
  พระสุธีรัตนบัณฑิต
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์ของการวิจัยนี้ ๑) เพื่อศึกษาชุมชนสร้างสรรค์ของประเทศไทย ๒) เพื่อวิเคราะห์กระบวนการพัฒนาชุมชนสร้างสรรค์บ้านบางกะจะ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี และ        ๓) เพื่อเสนอแนวทางการพัฒนาชุมชนสร้างสรรค์บ้านบางกะจะ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research Methodology) เก็บข้อมูลจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ(In-depth interview) จำนวน ๑๗ รูป/คน เลือกแบบเจาะจงจากพระสงฆ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาชุมชน ด้านการศึกษาตลอดชีวิต ด้านศิลปวัฒนธรรม และผู้ประกอบการธุรกิจสร้างสรรค์ เครื่องมือ  ในการเก็บข้อมูล ได้แก่ แบบสัมภาษณ์เชิงลึกที่มีโครงสร้าง เก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว วิเคราะห์ข้อมูลโดยการพรรณนาความ

ผลการศึกษาวิจัย พบว่า        

๑. ชุมชนสร้างสรรค์ของประเทศไทย พบว่า มีการพัฒนาที่เน้นระบบเศรษฐกิจที่ผสมผสานทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น เข้ากับองค์ความรู้ที่ครอบคลุมทั้งด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณลักษณะโดดเด่นเฉพาะตัว ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน มีวัฒนธรรมเป็นสิ่งยึดโยงคนในสังคมให้ตระหนักถึงรากเหง้าของตนเอง ทำให้เกิดความหวงแหน ภูมิใจที่จะรักษา อนุรักษ์ พื้นฟู พัฒนาและต่อยอด   เพื่อประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติ และมีการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นความรับผิดชอบต่อสังคมที่ประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คำนึงถึงทางสายกลาง ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของการไม่เบียดเบียน ไม่แสวงหาผลกำไรจนเกินระดับความยั่งยืน เพราะเศรษฐกิจในระดับชุมชนมีลักษณะเป็นองค์รวม มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน

๒. กระบวนการพัฒนาชุมชนสร้างสรรค์บ้านบางกะจะ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี พบว่า๑) การส่งเสริมการเรียนรู้ มีการลงพื้นที่เพื่อรับทราบปัญหาและความต้องการของชุมชน ๒) การเสริมสร้างจิตอาสา มีการเคารพความคิดเห็นของกันและกัน มีจิตอาสา ยึดถืออุดมคติหลักแห่งความดีงามร่วมกัน ๓) การพัฒนาความร่วมมือ มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ สร้างกรอบพื้นฐานของการมีส่วนร่วมและการสร้างจิตสำนึกให้มีความรู้สึกเป็นเจ้าของชุมชนร่วมกัน ๔) การจัดการทรัพยากรธรรมชาติด้านพื้นที่สีเขียว มีการจัดสรรแบ่งปันประโยชน์อย่างเท่าเทียม และมีการปลูกจิตสำนึกให้หวงแหนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ ๕) การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ มีการนำเอาเทคโนโลยีมาพัฒนาชุมชนเพื่อลดต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการของชุมชน

๓. แนวทางการพัฒนาชุมชนสร้างสรรค์บ้านบางกะจะ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี พบว่า๑) สาราณียธรรม มีการบูรณาการหลักธรรมที่เป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกัน เป็นไปเพื่อสงเคราะห์               และความพร้อมเพรียงกัน ๒) การเรียนรู้ มีการส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยการจัดกิจกรรมที่สร้างการรับรู้ และความเข้าใจวิถีชีวิต และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน มีการสร้างกลุ่มการเรียนรู้ในชุมชน เพื่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาบนพื้นฐานของการพึ่งตนเอง ๓) เทคโนโลยี มีการประสานการทำงานกับพหุภาคี โดยการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น และเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาช่วยเหลือในการผลิตและการตลาด                ๔) เศรษฐกิจ มีการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วยการสร้างงาน สร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิต และความสุขของประชาชน มากกว่าการเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ๕) การมีส่วนร่วม               เป็นเงื่อนไขที่ทำให้เกิดการร่วมรับรู้ ร่วมความคิด ร่วมตัดสินใจในประเด็นสาธารณะและ ร่วมลงมือกระทำอย่างแข็งขัน และ ๖) จิตอาสา มีการตระหนักรู้และคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวม ยึดมั่นในระบบคุณธรรม จริยธรรม และการมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตย รู้ถึงขอบเขต สิทธิเสรีภาพ                และมีการปลูกฝังเยาวชนให้มีความพอเพียง มีระเบียบวินัย มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีจิตอาสา

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕