การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ๑) ศึกษาภูมิคุ้มกันทางอาชีพแบบพอเพียงของผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๒) สร้างภูมิคุ้มกันทางอาชีพแบบพอเพียงของผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน ๓) นำเสนอรูปแบบการสร้างภูมิคุ้มกันทางอาชีพแบบพอเพียงของผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสานวิธีทั้งการวิจัยเชิงปริมาณและการวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง จำนวน ๒๖๕ คน ผู้ให้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ จำนวน ๒๕ คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การสัมภาษณ์เชิงลึก ใช้วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลแบบอรรถาธิบายและพรรณนาความ
ผลการวิจัยพบว่า
๑. ภูมิคุ้มกันทางอาชีพแบบพอเพียงของผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย ๑) ด้านความคิด มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และคิดอย่างเป็นระบบ ๒) ด้านจิตใจ มีความภาคภูมิใจในการประกอบอาชีพ ๓) ด้านสังคม มีการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ๔) ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สามารถใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชน ๕) ด้านเทคโนโลยี มีการพัฒนาเทคโนโลยีภูมิปัญญาให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชนสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาวิสาหกิจของได้อย่างเหมาะสม ๖) ด้านเศรษฐกิจ ดำรงชีวิตอย่างพออยู่พอกินสมควรตามอัตภาพ
๒. การสร้างภูมิคุ้มกันทางอาชีพแบบพอเพียงของผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก่อให้เกิดหลักสูตรการฝึกอบรมการทอผ้าไหมให้ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน และมีการใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต โดยใช้หลักพอประมาณ หลักเหตุผล หลักภูมิคุ้มกัน ส่งผลให้กลุ่มเกิดความยั่งยืนในการประกอบอาชีพ
๓. รูปแบบภูมิคุ้มกันทางอาชีพแบบพอเพียงของผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มี ๒ รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบการสร้างภูมิคุ้มกันทางอาชีพแบบพอเพียงของผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนโดยชุมชนสร้างขึ้น และรูปแบบการสร้างภูมิคุ้มกันทางอาชีพแบบพอเพียงของผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยภาคีเครือข่าย
Download |