การศึกษาวิจัยเรื่อง “ความร่วมมือในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลัก CSR ของภาคเอกชน อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม” มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ ได้แก่ ๑) เพื่อศึกษาความร่วมมือในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลัก CSR ของภาคเอกชน อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ๒) เพื่อศึกษาถึงกระบวนการในการดำเนินการความร่วมมือในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลัก CSR ของภาคเอกชน อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ๓) เพื่อวิเคราะห์ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะแนวทางความร่วมมือในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลัก CSR ของภาคเอกชน อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ผู้ให้ข้อมูลสำคัญคือ พระสังฆาธิการ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ ผู้นำชุมชน บุคลากรของหน่วยงานภาคเอกชน อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม รวมทั้งสิ้นจำนวน ๑๕ รูป/คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก เพื่อให้ทราบถึงปัญหา สาเหตุและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลัก CSR จากนั้นนำข้อมูลมาวิเคราะห์และสังเคราะห์เชื่อมโยงให้ได้แนวทางการแก้ไขปัญหาความร่วมมือในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลัก CSR ของภาคเอกชน
ผลการวิจัยพบว่า
๑. ความร่วมมือในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลัก CSR ของภาคเอกชนเชื่อมโยงกันเป็นส่วนหนึ่งคือการคิดของผู้นำ โดยเน้นคำว่า “บวร” โดยการดำเนินกิจกรรมอย่างเป็นระบบเพื่อตอบสนองต่อสังคมซึ่งเป็นหลักสำคัญของภาคเอกชน มีการรับฟังข้อมูลและความคิดเห็นจากบุคคลอื่น อีกทั้งการทำประชาพิจารณ์ต่อการดำเนินกิจการเพื่อป้องกันมิให้เกิดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม การสร้างความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนกับชุมชนนั้นเป็นเรื่องการสร้างความสัมพันธ์และการเข้าถึงชุมชนที่จะมองเห็นถึงประโยชน์ที่ภาคเอกชนนั้นนำเข้ามา นับเป็นการยอมรับของชุมชนที่มีความคาดหวังต่อการดำเนินงานของภาคเอกชน ความร่วมมือของภาคเอกชนเป็นความร่วมมือที่มีมาอย่างต่อเนื่องจากการช่วยเหลือชุมชน จึงมีการผลักดันให้เกิดกระบวนการของกิจกรรมไปยังหลักของ CSR ให้เกิดอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
๒. กระบวนการในการดำเนินการความร่วมมือในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลัก CSR ของภาคเอกชนนั้นภาครัฐจะมีการประชาคมกันทุกเดือนโดยเชิญเจ้าหน้าที่องค์กรภาครัฐ และภาคเอกชนเข้ามาประชาคมมีมติร่วมกัน พัฒนาศักยภาพพนักงานในองค์กรด้วยการอบรม สำรวจชุมชนถึงปัญหาและความต้องการ สิ่งที่รับผิดชอบต่อไปคือกระบวนการสร้างความเข้าใจกับประชาชนในชุมชน เมื่อสองฝ่ายเข้าใจกันแล้วผลที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือทั้งในส่วนการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมประเพณี หรือคุณภาพชีวิตสิ่งแวดล้อมต่างๆ ในเกือบทุกมิติ โดยพัฒนากระบวนการมาจากหลักของการวิเคราะห์บริษัท นั่นก็คือหลัก SWOT ซึ่งถือเป็นเทคนิคการวิเคราะห์ระบบการดำเนินการให้เกิดความทันสมัยอยู่ตลอดเวลา มีการวัดผลให้เกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ปรับปรุงความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนด ด้วยการพัฒนาความรู้ที่เชื่อมโยงกระบวนการทุกขั้นตอนเข้าด้วยกันจากบ้าน ชุมชน สังคม โรงเรียน บริษัท และภาครัฐ โดยที่ไม่ส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน
๓. ผู้บริหารส่วนหนึ่งยังมองงาน CSR จากกรอบความคิดเรื่อง ต้นทุน-ผลประโยชน์ระยะสั้นในหลายบริษัท งาน CSR ถูกจัดให้รวมไว้เป็นส่วนหนึ่งของแผนกต่างๆ แทนที่จะมีส่วนงานรับผิดชอบโดยตรง ทำให้ต้องแบ่งบุคลากรที่ทำงานด้านนั้นๆ มารับผิดชอบงาน CSR ซึ่งบุคลากรเหล่านี้ส่วนใหญ่จะไม่เข้าใจในเนื้องาน CSR จริง ส่งผลให้กิจกรรมด้าน CSR ออกมาในเชิงลบมากกว่าจะเป็นการเข้าไปช่วยแก้ไขบรรเทาปัญหาในสังคมอย่างจริงจัง อีกทั้งปัญหาการพูดคุยกับชุมชนที่ไม่แน่ชัดการสื่อสารถ่ายทอดวัตถุประสงค์เกิดความคลาดเคลื่อนทำให้ชุมชนไม่เข้ามาร่วมมือในการขับเคลื่อนกิจกรรมนั้นๆ อุปสรรคสำคัญอีกประการหนึ่งของการทำโครงการ CSR ที่พนักงานบริษัทต้องลงไปทำกิจกรรมร่วมกับคนในชุมชน คือ ความยากลำบากในการสื่อสารให้ชุมชนเข้าใจว่าบริษัทมีเจตนาที่ดีที่ต้องการเข้ามาช่วยเหลือ
ชุมชนกับบริษัทที่อยู่ในชุมชนจะต้องหันหน้าเข้าหารือกันไม่ว่าจะเป็นตอนที่มีปัญหาหรือไม่มีปัญหา ควรหมั่นพูดคุยทำความเข้าใจกันอยู่เสมอ รัฐต้องเสริมสร้างจิตสำนึกให้เกิดขึ้นกับประชาชนทั่วไปอย่างต่อเนื่องและแพร่หลาย เป้าหมายในการพัฒนาชุมชนสำคัญที่สุดต้องไปค้นหาข้อเท็จจริงว่าในพื้นที่ชุมชนที่เขาต้องการมากกว่าการที่เราอยากจะให้เขา เพราะฉะนั้นการที่จะดีที่สุดการสร้างความร่วมมือ การปรึกษาหารือทำความเข้าใจร่วมกันกำหนดเป้าหมายร่วมกันเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน
Download |