การศึกษาวิจัยเรื่อง “รูปแบบการพัฒนาชุมชนวัดท่าขนุนตามแนววิถีพุทธของพระสงฆ์วัดท่าขนุน จังหวัดกาญจนบุรี” มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ ได้แก่ ๑) เพื่อศึกษากระบวนการในการพัฒนาชุมชนวัดท่าขนุนตามแนววิถีพุทธของพระสงฆ์ วัดท่าขนุน ๒) เพื่อศึกษากิจกรรมการพัฒนาจิตใจและปัญญาแก่ชุมชนวัดท่าขนุนของพระสงฆ์วัดท่าขนุน ๓) เพื่อศึกษารูปแบบการพัฒนาชุมชนวัดท่าขนุน ตามแนววิถีพุทธของพระสงฆ์ วัดท่าขนุน การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้แบบสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) กับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informants) จำนวน ๓๕ รูป/คน คือ พระสงฆ์วัดท่าขนุน ๘ รูป ผู้นำชุมชนและเจ้าหน้าภาครัฐ ๑๐ ท่าน และชาวบ้านในชุมชน ๑๗ ท่าน วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการศึกษาพบว่า
๑. กระบวนการพัฒนาชุมชนวัดท่าขนุนมี ๓ ด้าน คือ ๑) การพัฒนาเศรษฐกิจจะมีการร่วมประชุมค้นหาทุนทางวัฒนธรรมประเพณีวิถีพุทธเพื่อนำมาต่อยอดสร้างจุดขายและแหล่งท่องเที่ยวใหม่เพื่อให้เกิดการสร้างงานแก่ชาวบ้านในชุมชน ๒) การพัฒนาศีลธรรมให้แก่ชุมชนวัดท่าขนุนด้วยการจัดกิจกรรมพัฒนาจิตใจและปัญญาแก่ประชาชนทั่วไปและเยาวชนและส่งเสริมให้การเผยแพร่ธรรมะเข้าถึงง่ายและสะดวกด้วยการใช้สื่อออนไลน์ ๓) การพัฒนาการศึกษาให้ประชาชน โดยการแจกทุนการศึกษาให้นักเรียนนักศึกษาที่เรียนดีแต่ยากจน ที่อาศัยอยู่ในชุมชนรอบวัด
๒. กิจกรรมการพัฒนาจิตใจและปัญญาของชุมชนนั้นจัดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาศีลธรรมโดยการนำหลักไตรสิกขามาใช้ แบ่งกิจกรรมตามกลุ่มเป้าหมายได้ ๓ กลุ่ม ดังนี้ ๑) กิจกรรมพัฒนาบุคลากรภายในวัดจะมีการฟังเสียงธรรมะเจริญภาวนาวันละ ๔ เวลา ๒) กิจกรรมพัฒนาประชาชนทั่วไป เช่น การจัดกิจกรรมวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา กาจัดบวชเนกขัมมะปฏิบัติธรรม จัดอุปสมบทหมู่ฟรีปีละ ๔ ครั้ง ๓) กิจกรรมเพื่อเยาวชนจะมีการจัดกิจกรรมเข้าค่ายพุทธบุตร
๓. รูปแบบการพัฒนาชุมชนวัดท่าขนุนตามแนววิถีพุทธจะเป็นการร่วมมือกันระหว่าง พระสงฆ์ เจ้าหน้าที่ภาครัฐและชาวบ้าน โดยใช้หลักอริยสัจ ๔ ช่วยให้ชุมชนได้มองเห็นต้นเหตุปัญหา (ทุกข์) ได้แก่ ปัญหาทางเศรษฐกิจ ศีลธรรมและการศึกษา ซึ่งมีที่มา (สมุทัย) จาก การมีคนไร้สัญชาติในพื้นที่ ขาดต้นทุนในการสร้างฐานะทางเศรษฐกิจร่วมกัน ฐานะยากจนและความการห่างไกลจากศาสนา นำไปสู่การหาหนทางในการแก้ปัญหา (มรรค) ได้แก่ การร่วมกับชุมชนหาทุนทางวัฒนธรรมเพื่อนำมาเป็นต้นทุนในการสร้างอาชีพและแจกทุนการศึกษาให้นักเรียน พร้อมทั้งพัฒนาพระสงฆ์ภายในวัดเพื่อให้สามารถสร้างศรัทธาแก่ประชาชน นำสู่การพัฒนาจิตใจและปัญญาของประชาชน ผลสุดท้ายคือทุกข์ของชุมชนสามารถดับลงได้ (นิโรธ) คือ ชาวบ้านมีรายได้มากขึ้น ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาลดลง และชาวบ้านมีความเข้าใจในหลักธรรมมากขึ้น สามารถนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตเพื่อผลในระยะยาวได้
Download |