การวิจัยครั้งนี้ เป็นการศึกษาเกี่ยวกับรูปแบบการพึ่งตนเองผ่านกระบวนการวิสาหกิจชุมชน : กรณีศึกษาการแปรรูปผลิตภัณฑ์กล้วยตากบ้านจำปาทอง ตำบลโพประจักษ์ อำเภอท่าช้าง จังหวัดสิงห์บุรี มีวัตถุประสงค์เพื่อ ๑) เพื่อศึกษาการจัดการของวิสาหกิจชุมชนกล้วยตากบ้านจำปาทอง ตำบลโพประจักษ์ อ.ท่าช้าง จ.สิงห์บุรี ๒) เพื่อศึกษากระบวนการพึ่งพาตนเองของวิสาหกิจชุมชนกล้วยตากบ้านจำปาทอง ตำบลโพประจักษ์ อ.ท่าช้าง จ.สิงห์บุรี ๓) เพื่อเสนอรูปแบบการพึ่งตนเองในท้องถิ่นอย่างยั่งยืนของวิสาหกิจชุมชนกล้วยตากบ้านจำปาทอง ตำบลโพประจักษ์ อ.ท่าช้าง จ.สิงห์บุรี การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้แบบสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) กับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informants) จำนวน ๒๐ ท่าน คือ สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกล้วยตากบ้านจำปา ประธานกลุ่ม ๑ ท่าน สมาชิกกลุ่ม ๘ ท่าน ปราชญ์ชาวบ้าน ๑ ท่าน ลูกค้า/คนในชุมชน ๕ ท่าน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๕ หน่วยงาน วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการศึกษาพบว่า
๑. เศรษฐกิจในชุมชนบ้านจำปาทอง เป็นไปตามวิถีชีวิตของชาวบ้าน มีการทำไร่ทำนา เป็นรายได้หลักทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจชุมชนพึ่งตนเอง ชุมชนบ้านจำปาทอง ประสบปัญหากล้วยที่มีมากเกินไป ทางกลุ่มได้มองเห็นสภาพปัญหาของชุมชนที่มีกล้วยน้ำหว้าเป็นจำนวนมากและมีราคาถูก จึงจัดตั้งกลุ่มเพื่อแปรรูปกล้วยตาก นำภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีมาประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างมูลค่าราคาให้เพิ่มขึ้น การจัดการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกล้วยตากบ้านจำปาทอง มีผู้นำและสมาชิก โดยการทำตามหน้าที่ มีการกระจายหน้าที่ให้แต่ละฝ่ายดำเนินงานอย่างเต็มที่ กลุ่มวิสาหกิจกล้วยตากบ้านจำปาทอง มีการดำเนินงานโดยหน่วยงานภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วม เป็นรับรองการดำเนินงานของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกล้วยตากบ้านจำปาทองและสินค้าของกลุ่มวิสาหกิจกล้วยตากบ้านจำปาทอง จากอำเภอท่าช้าง หน่วยงานเกษตรอำเภอท่าช้าง ให้เป็นสินค้า OTOP และหน่วยงานพัฒนาการชุมชนอำเภอท่าช้าง ให้จดทะเบียนเป็นสินค้าวิสาหกิจชุมชน
๒. กระบวนการพึ่งตนเองของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกล้วยตากบ้านจำปาทอง มีการพึ่งตนเอง ๕ ด้าน คือ ๑) การพึ่งตนเองด้านเศรษฐกิจ ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านจำปาทอง การลงทุน หรือการใช้เงินของกลุ่ม ทางกลุ่มใช้หลักการไม่ฟุ่มเฟือย มีนโยบายการรู้จักประหยัด อดออม มีการปรับตัวให้เข้ากับเศรษฐกิจของชุมชน กลุ่มสามารถพึ่งพาชุมชนได้ และชุมชนก็สามารถพึ่งพากลุ่มได้เช่นเดียวกัน ๒) การพึ่งตนเองด้านสังคม พึ่งพาอาศัยกันของคนในชุมชน ช่วยเหลือซึ่งกันและกันของคนในชุมชน สร้างความรักความสามัคคี เป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็งในด้านการพึ่งพาตนเอง จึงเป็นแหล่งเรียนรู้แก่ชุมชนอื่นๆ ๓) การพึ่งตนเองด้านทรัพยากร ซึ่งประกอบด้วย ทรัพยากรบุคคล มีคณะทำงานที่มีคุณภาพ พึ่งพาอาศัยกัน มีความสามัคคีกันในกลุ่ม ทำงานร่วมกันโดยเป็นลักษณะเป็นครอบครัว ทรัพยากรธรรมชาติก็คือ กล้วยน้ำหว้าที่มีอยู่ในชุมชนซึ่งสามารถลดต้นทุนในการผลิตได้ และทรัพยากรที่เป็นองค์ความรู้ที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งได้รับการถ่ายทอดเป็นมรดกทางปัญญามาจากบรรพบุรุษ การมีความรู้ในการใช้ภูมิปัญญาประยุกต์ใช้ในการผลิต เกิดรายได้หมุนเวียนภายในชุมชน ๔) การพึ่งพาตนเองด้านเทคโนโลยี กลุ่มได้นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับภูมิปัญญาท้องถิ่นได้อย่างเหมาะสม และยังมีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการสื่อสาร ให้การดำเนินงานธุรกิจของกลุ่มในชุมชนเป็นได้อย่างดี และมีคุณภาพการทำงานที่ดียิ่งขึ้น ๕) การพึ่งพาตนเองด้านจิตใจ อันดับแรกมีผู้นำ คือ ประธานกลุ่ม ที่มีความขยัน มีทัศนคติ วิสัยทัศน์ที่กว้างไกล มีการวางแผนการทำงานที่เป็นขั้นตอน เป็นระบบ สามารถเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของสมาชิกได้ อันดับที่สองเน้นเรื่องความโปร่งใสในการทำงาน เมื่อกลุ่มสามารถสร้างโปร่งใส ความสบายใจแก่สมาชิกและผู้ที่มาตรวจสอบได้ การทำงานของกลุ่ม กลุ่มสามารถดำเนินไปได้อย่างยั่งยืน
๓. โดยสรุปกระบวนการพึ่งตนเอง ๕ ด้าน ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกล้วยตากบ้านจำปาทอง โดยนำหลักธรรมและหลักเศรษฐกิจพอเพียง มาบูรณาการ ได้ดังนี้ ๑) การพึ่งตนเองด้านเศรษฐกิจ บูรณาการเข้ากับหลักเศรษฐกิจพอเพียง ๒) การพึ่งตนเองด้านสังคมบูรณาการเข้ากับหลักเมตตา ๓) การพึ่งตนเองด้านทรัพยากรธรรมชาติ บูรณาการเข้ากับหลักปัญญา ๔) การพึ่งพาตนเองทางด้านเทคโนโลยี บูรณาการเข้ากับหลักปัญญา ๕) การพึ่งพาตนเองด้านจิตใจ บูรณาการเข้ากับหลัก ธรรมาภิบาลและวิริยะอุตสาหะ
Download |