หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระปลัดสนิท กตสาโร (เรือนเงิน)
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๕ ครั้ง
ปัจจัยที่ส่งผลต่อหมู่บ้านศีลห้าต้นแบบสู่ความสันติสุขของชุมชนวัดกัทลีพนารามตำบลบ้านกล้วย อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี (สาขาวิชาการพัฒนาสังคม)
ชื่อผู้วิจัย : พระปลัดสนิท กตสาโร (เรือนเงิน) ข้อมูลวันที่ : ๐๔/๑๐/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  อุบลวรรณา ภวกานันท์
  พระครูปริยัติกิตติธำรง
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๑
 
บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์คือ ๑) เพื่อศึกษากระบวนการในการดำเนินงานที่ส่งผลต่อหมู่บ้านศีลห้าต้นแบบเพื่อความสันติสุขของชุมชนวัดกัทลีพนาราม ตำบลบ้านกล้วย อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ๒) เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการดำเนินงานหมู่บ้านศีลห้าต้นแบบเพื่อความสันติสุขของชุมชนวัดกัทลีพนาราม ตำบลบ้านกล้วย อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ๓) เพื่อศึกษาแนวทางที่ทำให้เป็นหมู่บ้านศีลห้าต้นแบบเพื่อความสันติสุขของชุมชนวัดกัทลีพนาราม ตำบลบ้านกล้วย อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งมีผู้ให้ข้อมูลสำคัญในเชิงคุณภาพเป็นการสัมภาษณ์ด้วยวิธีสุ่มแบบบังเอิญจากผู้ที่สามารถให้ข้อมูลได้ จำนวน ๔๖ คน

 

              ผลการวิจัยพบว่า

              ๑. กระบวนการในการดำเนินงานที่ส่งผลต่อหมู่บ้านศีลห้าต้นแบบเพื่อความสันติสุขของชุมชนวัดกัทลีพนาราม ตำบลบ้านกล้วย อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี พบว่า ทุกคนในชุมชนปฏิบัติตามขั้นตอนที่วางไว้ ซึ่งมี ๓ ด้าน คือ ๑) ด้านการมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ชุมชนจัดขึ้นคนในชุมชนให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมเป็นอย่างดี ๒) ด้านการละเมิดศีล ๕ ของคนในชุมชนนั้นมีน้อยมากด้วยมีหลักธรรมนำใจคือความเกรงกลัวต่อการทำบาป และ ๓) ด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีนั้นประชาชนทุกครัวเรือนในชุมชนแสดงออกถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีของชุมชนอย่างเข้มแข็งและรักในถิ่นฐานของตน

              ๒. ปัจจัยที่ส่งผลต่อการดำเนินงานหมู่บ้านศีลห้าต้นแบบเพื่อความสันติสุขของชุมชนวัดกัทลีพนาราม ตำบลบ้านกล้วย อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี พบว่า ในการขับเคลื่อนโครงการฯ ที่ผ่านมา ประชาชนทุกภาคส่วนในชุมชนให้ร่วมมือร่วมใจกันเป็นอย่างดีในทุกๆ ด้าน ที่ชุมชนจัดขึ้น อันประกอบไปด้วย ๑) ด้านโครงการศีล ๕ ซึ่งมีส่วนกระตุ้นให้เกิดขบวนการการวางแผนวางยุทธศาสตร์ไว้เป็นอย่างดีด้วยการตั้งวัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ ๒) ด้านพระสงฆ์ ทางมหาเถรสมาคมได้มีมติให้คณะสงฆ์ส่งเสริมสนับสนุนโครงการ โดยจังหวัดลพบุรี ดำเนินการร่วมกับคณะสงฆ์จังหวัดลพบุรี และสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดลพบุรี ในการขับเคลื่อนโครงการ ๓) ด้านผู้นำ ผู้ใหญ่บ้าน/ประธานชุมชน จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการจัดทำกิจกรรม และแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานโครงการ โดยมีผู้ใหญ่บ้าน/ประธานชุมชน เป็นประธาน และมีผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ เป็นกรรมการ ในรูปแบบที่จังหวัดกำหนด ตามประกาศนโยบายหมู่บ้านรักษาศีล ๕ ประชาเป็นสุข และ ๔) ด้านความร่วมมือของชุมชน ประชาชนทุกคนในชุมชนวัดกัทลีพนารามให้ความสำคัญต่อโครงการเป็นอย่างดี ด้วยการให้ความร่วมมือในการเข้าร่วมการดำเนินกิจกรรมทุกกิจกรรมที่ชุมชนจัดขึ้น

              ๓. แนวทางที่ทำให้เป็นหมู่บ้านศีลห้าต้นแบบเพื่อความสันติสุขของชุมชนวัดกัทลีพนาราม ตำบลบ้านกล้วย อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี พบว่า มีแนวทาง ๔ ด้าน คือ ๑) ด้านความรู้เรื่องศีล ๕ ทุกคนในชุมชนถูกสอนให้มีความรักสามัคคี โดยใช้วัฒนธรรมและประเพณีและกิจกรรมเป็นสื่อกลางจึงทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกันในชุมชน เนื่องจากพื้นฐานเดิมของคนในชุมชนเป็นสังคมเกษตรกรรม ส่งผลทำให้มีอุปนิสัยเยือกเย็น ใจดี เป็นมิตรกับผู้อื่นได้ง่าย มีความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีผู้นำเป็นแบบอย่าง จึงสามารถเข้าถึงศีลและปรับตนเองและครอบครัวชุมชนให้เข้ากับกระบวนการจัดกิจกรรมการดำเนินงานของโครงการหมู่บ้านรักษาศีลห้าต้นแบบได้โดยไม่ยากและด้วยความสำเร็จจนได้รับรางวัล ๒) ด้านกระบวนการชุมชน ในชุมชนจะมีผู้นำชุมชนจัดงานกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ทุกคนในชุมชนได้มาร่วมกันทำกิจกรรมที่จัดขึ้นในแต่ละครั้ง ๓) ด้านกิจกรรมวิถีพุทธ ประชาชนในชุมชนจะมีการทำบุญตักบาตร สวดมนต์ทำวัตร ฟังธรรมเทศนา ในวันสำคัญต่างๆ และ ๔) ด้านคณะสงฆ์ มีการประชุมมอบหมายให้พระสงฆ์แสดงธรรมเทศนาในวันสำคัญต่างๆ เพื่อให้ตระหนักในคุณธรรมแห่งศีล ๕ เป็นการเสริมสร้างความสมัครสมานสามัคคีแก่คนในชุมชน ส่งเสริมให้จัดกิจกรรมอื่นๆ ตามประเพณีนิยมของท้องถิ่นโดยมีวัดและพระสงฆ์เป็นศูนย์กลาง รณรงค์ ลด ละ เลิก อบายมุขและสิ่งเสพติดทั้งปวง

Download

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕