การศึกษาวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ ๑. เพื่อศึกษาระดับการบริหารจัดการการให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของเทศบาลเมืองไร่ขิง จังหวัดนครปฐม ๒. เพื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารจัดการการให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของเทศบาลเมืองไร่ขิง จังหวัดนครปฐม โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล ๓. เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะการบริหารจัดการการให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของเทศบาลเมืองไร่ขิง จังหวัดนครปฐม
ดำเนินการตามระเบียบวิธีวิจัยแบบผสานวิธี โดยเป็นการวิจัยเชิงปริมาณ ซึ่งใช้แบบสอบถามที่มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ ๐.๙๓๒ จากกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ ประชาชนทั่วไปที่มีอายุตั่งแต่ ๑๒ ปีขึ้นไปในตำบลไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม จำนวน ๓๘๔ คน จากประชากรทั้งหมด ๒๒,๓๙๘ คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที และการทดสอบค่าเอฟ ด้วยวิธีการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว ในกรณีตัวแปรต้นตั้งแต่ ๒ กลุ่มขึ้นไป เมื่อพบว่ามีความแตกต่างจะทำการเปรียบเทียบความแตกต่างค่าเฉลี่ยเป็นรายคู่ด้วยวิธีผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด และการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยวิธีสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน ๑๒ คนแบบตัวต่อตัว วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหาเชิงพรรณนา
ผลการวิจัยพบว่า
๑. ระดับการบริหารจัดการการให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของเทศบาลเมืองไร่ขิง จังหวัดนครปฐม โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก ( = ๓.๙๓) เมื่อจำแนกเป็นรายด้านพบว่า
การบริหารจัดการการให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของเทศบาลเมืองไร่ขิง จังหวัดนครปฐม
ด้านทรัพยากรบุคคล ( = ๓.๙๘, S.D. = ๐.๔๔๓) ด้านหน้าที่ความรับผิดชอบ
( = ๓.๙๔, S.D. = ๐.๕๑๖) ด้านโครงสร้างชุมชน ( = ๓.๙๓, S.D. = ๐.๔๔๙) ด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี ( = ๓.๙๑, S.D. = ๐.๕๐๗) ด้านการให้บริการ ( = ๓.๘๙, S.D. = ๐.๔๓๕) ทุกด้านอยู่ในระดับมาก
๒. ผลการเปรียบเทียบการบริหารจัดการการให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของเทศบาลเมืองไร่ขิง จังหวัดนครปฐม โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล พบว่า ประชากรที่มี เพศ อายุ สถานภาพ ระดับการศึกษา และอาชีพ ที่แตกต่างกัน มีระดับความคิดเห็น โดยภาพรวมไม่แตกต่างกัน จึงปฏิเสธสมมติฐานที่ตั้งไว้
๓. ปัญหา อุปสรรค ของการบริหารจัดการการให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของเทศบาลเมืองไร่ขิง จังหวัดนครปฐม คือ ปัจจุบันเทคโนโลยีมีหลากหลายประเภท และมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลาทำให้ไม่สามารถทำความเข้าใจและใช้งานตามได้ทันเพราะการให้บริการในแต่ละด้านต้องใช้เวลานาน อีกทั้งมีราคาสูงไม่สามารถซื้อรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาระบบได้ทัน การใช้งานของผู้สูงอายุนั้นยังไม่สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ ประชาชนประกอบอาชีพการเกษตรไม่ให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยี ศูนย์ข้อมูลข่าวสารยังไม่เพียงพอ ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในการถ่ายทอดความรู้จากผู้นำชุมชน ระยะเวลาในการจัดอบรมบางเรื่องยังไม่เพียงพอ ขาดการให้ความรู้แบบลงพื้นที่เพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่แท้จริง ขาดการจัดทำคู่มือเพื่อเป็นฐานข้อมูล ขาดการจูงใจในการเข้าอบรมและเข้าใช้เทคโนโลยี ขาดการสำรวจข้อมูลหรือแนะแนวหัวข้อก่อนวันเริ่มประชาคม ประชาชนจึงไม่มีข้อมูลที่เพียงพอในการเสนอต่อที่ประชุม และข้อเสนอแนะในการบริหารจัดการการให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของเทศบาลเมืองไร่ขิง จังหวัดนครปฐม คือ ส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะเทคโนโลยีกับการดำเนินงานนั้นควรมีการพัฒนาให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เน้นการใช้แอปพลิเคชั่นที่สามารถใช้งานกับเทคโนโลยีที่ราคาไม่สูง ส่งเสริมการเรียนรู้เทคโนโลยีสู่กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มการเกษตร เพิ่มศูนย์บริการข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนโดยการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ในการให้บริการคอมพิวเตอร์ สร้างความเชื่อมั่นด้านความรู้ความสามารถของผู้นำชุมชน เพิ่มระยะเวลาในการจัดอบรม พร้อมกับพาลงพื้นที่ปฏิบัติจริงจะได้ทราบถึงปัญหาในการใช้งานขณะนั้นและสามารถแก้ปัญหาการใช้งานได้จริง จัดทำคู่มือเพื่อเป็นฐานข้อมูลในการปฏิบัติให้กับเจ้าหน้าที่ใหม่ สร้างแรงจูงใจในการเข้าอบรมและเข้าใช้เทคโนโลยี เช่น การให้รางวัล และทำการสำรวจข้อมูลก่อนวันเริ่มประชาคม เพื่อให้ประชาชนได้จัดเตรียมเนื้อหาข้อมูลเสนอต่อที่ประชุม
Download
|