การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ (๑) เพื่อศึกษาปัญหาของภาวะผู้นำทางวิชาการตามหลักพุทธธรรม สำหรับผู้บริหารสถานศึกษามัธยมศึกษา สังกัดกรุงเทพมหานคร (๒) เพื่อพัฒนารูปแบบการพัฒนาภาวะผู้นำทางวิชาการตามหลักพุทธธรรมสำหรับผู้บริหารสถานศึกษามัธยมศึกษา สังกัดกรุงเทพมหานคร (๓) เพื่อนำเสนอรูปแบบการพัฒนาภาวะผู้นำทางวิชาการตามหลักพุทธธรรมสำหรับผู้บริหารสถานศึกษามัธยมศึกษา สังกัดกรุงเทพมหานคร โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสานวิธี ได้แก่ ระเบียบวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยการศึกษาเอกสาร และนำมาสร้างแบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง เพื่อนำไปสัมภาษณ์เชิงลึก จากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน ๔ คน พัฒนารูปแบบโดยการสนทนากลุ่ม
มีผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน ๙ รูป/คน และระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณ กลุ่มตัวอย่าง ๒ กลุ่มตัวอย่าง กลุ่มแรก ศึกษาสภาพปัญหาของภาวะผู้นำทางวิชาการ คือ หัวหน้ากลุ่มสาระ๘ กลุ่มสาระ จำนวน ๒๖๙ คน กลุ่มตัวอย่างที่สอง โดยการตรวจสอบรูปแบบด้วยการแจกแบบสอบถามตามมาตรฐานการประเมิน ๔ ด้าน คือ ๑) ความเป็นประโยชน์ ๒) ความเป็นไปได้ ๓) ความเหมาะสม ๔) ความถูกต้อง คือ ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน ๑๐๔ คน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ค่าเฉลี่ย ร้อยละ และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัย พบว่า:
๑. สภาพปัญหาของภาวะผู้นำทางวิชาการตามหลักพุทธธรรม สำหรับผู้บริหารสถานศึกษามัธยมศึกษา สังกัดกรุงเทพมหานคร ได้แก่ ด้านการมีวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมายการพัฒนาการศึกษา อยู่ในระดับสูงสุด โดยมีข้อที่มีปัญหามากที่สุด คือ ผู้บริหารสถานศึกษามีการวัดผลและประเมินผลความก้าวหน้าในการนำวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมายการพัฒนาการศึกษาสู่การปฏิบัติ ด้านการพัฒนาวิชาชีพครูอยู่ในระดับสูงสุดรองลงมา โดยมีข้อปัญหามากที่สุด คือ ผู้บริหารสถานศึกษาสนับสนุนให้ครูสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือกับชุมชนนักวิชาการเพื่อการจัดการเรียนรู้ และด้านการนิเทศ กำกับ ติดตามและประเมินผลการจัดการเรียนการสอน อยู่ในระดับมาก ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษาร่วมกับครูจัดระบบนิเทศ กำกับ ติดตามการจัดการเรียนการสอนต่อเนื่องสม่ำเสมอ
๒. พัฒนารูปแบบการพัฒนาภาวะผู้นำทางวิชาการตามหลักพุทธธรรมสำหรับผู้บริหารสถานศึกษามัธยมศึกษา สังกัดกรุงเทพมหานคร ได้แก่ ส่วนประกอบของรูปแบบ ๔ ส่วน ดังนี้ ส่วนที่ ๑ ส่วนนำ ประกอบด้วย ๑) หลักการการ ๒) วัตถุประสงค์ ๓) บริบทของสถานศึกษา ส่วนที่ ๒ ตัวแบบกระบวนการพัฒนารูปแบบภาวะผู้นำทางวิชาการ ประกอบด้วย ๑) องค์ประกอบของภาวะผู้นำทางวิชาการ ๒) ขั้นตอนการพัฒนาภาวะผู้นำทางวิชาการ ๓) คุณลักษณะที่ดีของผู้นำทางวิชาการ ๔) หลักธรรมในการพัฒนาภาวะผู้นำทางวิชาการ ๕) โครงการในการพัฒนาภาวะผู้นำทางวิชาการ (DARAWAN - DDD Project) ส่วนที่ ๓ การนำรูปแบบไปใช้ ประกอบด้วย ๑) การเตรียมการ ๒) การดำเนินงาน ๓) การประเมินผลการดำเนินงาน ส่วนที่ ๔ เงื่อนไขของการนำรูปแบบไปใช้ ประกอบด้วย ๑) ปรับเปลี่ยนตามขนาดของสถานศึกษา ๒) ปรับเปลี่ยนตามสภาพแวดล้อมของสถานศึกษา
๓. รูปแบบการพัฒนาภาวะผู้นำทางวิชาการตามหลักพุทธธรรมสำหรับผู้บริหารสถานศึกษามัธยมศึกษา สังกัดกรุงเทพมหานคร โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านจากมากไปหาน้อย ได้แก่ ด้านความเป็นประโยชน์ ด้านความถูกต้อง ด้านความเหมาะสม และด้านความเป็นไปได้ อยู่ในระดับมากตามลำดับ
คำสำคัญ : รูปแบบ, ภาวะผู้นำทางวิชาการ, ผู้บริหารสถานศึกษา
Download |