การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ ๑) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาการประกันคุณภาพการศึกษาภายใน ๒) เพื่อพัฒนากระบวนการการประกันคุณภาพการศึกษาภายในและ ๓) เพื่อเสนอกระบวนการการประกันคุณภาพการศึกษาภายในของสถานศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา
ใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสานวิธี ระหว่างการวิจัยเชิงคุณภาพ และการวิจัยเชิงปริมาณ โดยการเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึก จากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิรวมทั้งจากผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง จากนั้นนำมาสังเคราะห์เป็นรูปแบบเบื้องต้น ก่อนที่จะนำเสนอต่อเวทีสนทนากลุ่มเฉพาะ เพื่อพัฒนากระบวนการให้มีความสมบูรณ์ขึ้น การวิจัยเชิงปริมาณ ใช้การศึกษาวิจัยเชิงสำรวจ จากแบบสอบถามและนำเสนอต่อประชาพิจารณ์ เพื่อหาข้อสรุปในผลงานวิจัย ผลการวิจัยพบว่า
๑. สภาพปัญหาการประกันคุณภาพการศึกษาภายในของสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา แบ่งออกเป็น ๒ ด้าน ๔ มาตรฐาน คือ ๑) ด้านความเหมาะสม โดยภาพรวมเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นมาตรฐาน พบว่า มาตรฐานที่ ๔ ระบบประกันคุณภาพภายในที่มีประสิทธิผล มาตรฐานที่ ๑ คุณภาพของผู้เรียน มาตรฐานที่ ๒ กระบวนการบริหารและการจัดการของผู้บริหารสถานศึกษา และ มาตรฐานที่ ๓ กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ตามลำดับ
๒. พัฒนากระบวนการการประกันคุณภาพการศึกษาภายในของสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ซึ่งแบ่งออกเป็น ๔ มาตรฐาน คือ มาตรฐานที่ ๑ คุณภาพของผู้เรียนต้องมีร่างกายแข็งแรง นักเรียนมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ความคิดอย่างมีวิจารณญาณ อภิปราย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแก้ปัญหา มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มาตรฐานที่ ๒ กำกับ ติดตาม ประเมินผลการบริหารและการจัดการศึกษา การวางแผนและดำเนินงานพัฒนาครูและบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญทางวิชาชีพ การวางแผนและดำเนินงานพัฒนาวิชาการที่เน้นคุณภาพของผู้เรียนรอบด้าน ทุกกลุ่มเป้าหมายและดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม มาตรฐานที่ ๓ มีกระบวนการเรียนการสอนที่สร้างโอกาสให้ผู้เรียนทุกคนมีส่วนร่วม มาตรฐานที่ ๔ มีการกำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา จัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษามุ่งเน้นคุณภาพตามมาตรฐาน
๓. เสนอกระบวนการการประกันคุณภาพการศึกษาภายในของสถานศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ประกอบด้วย ๑) การควบคุมคุณภาพ ๒) การตรวจสอบ ๓) การประเมินคุณภาพ ๔) การให้การรับรองคุณภาพการศึกษาแก่สถานศึกษานั้นๆ ผ่านวงจรควบคุมคุณภาพ ได้แก่ กำหนดโครงการ/แผนงาน/กิจกรรม และกำหนดวัตถุประสงค์ ปฏิบัติหน้าที่ตามแผนที่กำหนดไว้ให้มีประสิทธิผล ควบคุม และการทบทวนกระบวนการปฏิบัติงาน
Download |