ดุษฎีนิพนธ์เรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อเสนอรูปแบบการพัฒนาภาวะผู้นำด้านการเผยแผ่สำหรับพระสังฆาธิการในเขตการปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๗ ฝั่งอันดามัน ใช้กระบวนการวิจัยแบบผสมผสานวิธี โดยเริ่มจากการใช้แบบสอบถามศึกษาสภาพภาวะผู้นำด้านการเผยแผ่ของพระสังฆาธิการ
ในเขตฝั่งอันดามัน ๕ จังหวัด จำนวน ๒๓๔ รูป เพื่อให้ได้ข้อมูลเบื้องต้น ในการศึกษาค้นคว้าหาแนวคิด ทฤษฎีในการพัฒนาภาวะผู้นำด้านการเผยแผ่และใช้สร้างแบบสัมภาษณ์ข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นพระสังฆาธิการ ๑๕ รูป เพื่อทำการสร้างรูปแบบการพัฒนาภาวะผู้นำด้านการเผยแผ่สำหรับพระสังฆาธิการเขตฝั่งอันดามัน และใช้การสัมมนากลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ ๑๒ รูป/คน สำหรับพิจารณาความเหมาะสมและให้การรับรองรูปแบบการพัฒนาภาวะผู้นำด้านการเผยแผ่ดังกล่าว
ผลการวิจัย พบว่า
๑. สภาพภาวะผู้นำด้านการเผยแผ่ ทั้ง ๓ ด้าน คือ ความรู้ ทักษะ และบุคลิกภาพ
ในการปฏิบัติงานของพระสังฆาธิการในเขตฝั่งอันดามัน ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก
๒. การพัฒนาภาวะผู้นำด้านการเผยแผ่ของพระสังฆาธิการฝั่งอันดามัน ทั้งด้านความรู้ ทักษะและบุคลิกภาพให้เพิ่มพูนสูงขึ้นด้วยการดำเนินการ ๕ ขั้นตอน คือ ๑) กำหนดหลักการในการพัฒนา ๒) กำหนดวัตถุประสงค์การพัฒนา ๓) จัดระบบและกลไก (หรือวางแผนการพัฒนา)
๔) กำหนดวิธีดำเนินการ และ ๕) การประเมินผลการพัฒนา
๓. รูปแบบการพัฒนาภาวะผู้นำด้านการเผยแผ่ของพระสังฆาธิการฝั่งอันดามัน
ซึ่งผู้ทรงคุณวุฒิได้พิจารณาให้การรับรองว่ามีความเหมาะสมและสามารนำไปใช้พัฒนาได้จริง เป็นไปตาม โมเดล KSPM คือ พระสังฆาธิการ ต้องมีภาวะผู้นำ ๔ ด้าน คือ ๑) มีความรู้ด้านกฎหมาย
กฎ ระเบียบคำสั่งของคณะสงฆ์ นโยบาย แผนงานและหลักการเผยแผ่ ๒) มีทักษะ ด้านการใช้สื่อเทคโนโลยี สารสนเทศ เทคนิควิธีการเทศนา หลักพุทธธรรมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ สำหรับสอนประชาชน และจัดตั้งกองทุนเพื่อการเผยแผ่ ๓) มีบุคลิกภาพ ตามองค์ธรรมในโอวาทปาฏิโมกข์
เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชน ๔) มีวิธีการเผยแผ่เชิงรุก สงเคราะห์ประชาชน เข้าถึงชุมชน และปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่น
สำหรับวิธีการพัฒนาพระสังฆาธิการใช้การบูรณาการ ๕ วิธี คือ ๑) ให้การศึกษาอบรมทั้งในระบบและนอกระบบ ๒) การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ๓) การจัดอภิปรายกลุ่ม ๔) การประชุมระดมสมอง และ ๕) การศึกษาดูงานนอกสถานที่
Download
|