การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ คือ ๑) เพื่อศึกษาสภาพการจัดการเรียนรู้สร้างเสริมพุทธจริต ของนักเรียนประถมศึกษา จังหวัดนนทบุรี ๒) เพื่อศึกษาหลักการจัดการเรียนรู้ เพื่อสร้างเสริมพุทธจริตสำหรับนักเรียนประถมศึกษา จังหวัดนนทบุรี ๓) เพื่อเสนอแนวทางการจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างเสริมพุทธจริต สำหรับนักเรียนประถมศึกษา จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นการวิจัยแบบผสมผสานวิธีระหว่างงานวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) วิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) และงานวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยใช้แบบสอบถาม (Questionnaire) ใช้วิธีเก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้บริหาร ครู และเจ้าหน้าที่ โรงเรียนประถมศึกษา จังหวัดนนทบุรี จำนวน ๑๙๐ คน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยหา ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์เอกสารและสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน ๕ คน ทำการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
๑.ผลการวิเคราะห์ข้อมูลความคิดเห็นของบุคลากร ภาพรวม ๖ ด้าน รายด้านบุคลากรมีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากที่สุด ได้แก่ ด้านโทสจริตรองลงมา อยู่ในระดับมาก ได้แก่ ด้านสัทธาจริตด้านวิตกจริตด้านโมหจริตด้านราคจริต และรายด้านที่มีระดับต่ำสุด ได้แก่ ด้านพุทธิจริต ตามลำดับ
๒.หลักการจัดการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างพุทธจริตมี ๓ ประเด็น คือ ๑) วิเคราะห์ผู้เรียน ๒) อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ ๓) ส่งเสริมผู้เรียนให้เรียนรู้ด้วยตนเองเรียนรู้กับผู้อื่นและสามมารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้ตามหลักพุทธจริต อันได้แก่ ราคะจริต โทสจริต โมหะจริต วิตกจริต สัทธาจริต และพุทธิจริต โดยอาศัยผู้เรียนที่มีความรู้ความเข้าใจในการจัดการเรียนให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยความถนัดของแต่ละคนให้เรียนรู้อย่างมีความสุข
๓. เสนอแนวทางการจัดการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างพุทธจริต ๑) สนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียนที่สอดคล้องกับความถนัดของแต่ละคนที่บูรณาการการเรียนรู้พุทธจริตด้วยความเข้าใจของนักเรียน ๒) มีแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายในการสนับสนุนการเรียนรู้ประกอบไปด้วย สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ห้องสมุด บุคคล และการสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ให้มีความสุข ๓) ส่งเสริมเอื้ออำนวยสิ่งสนับสุนนการเรียนรู้ในหลายรูปแบบทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนเพื่อให้ทันการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมใหม่ ๆ
Download
|