การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาสภาพการบริหารตามหลักอิทธิบาท ๔ ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ๒) เพื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นต่อสภาพการบริหารตามหลักอิทธิบาท ๔ ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ๓) เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาการบริหารตามหลักอิทธิบาท ๔ ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ใช้ระเบียบการวิจัยวิธีวิทยาแบบผสม โดยการวิจัยเชิงปริมาณ กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน จำนวน ๓๐๔ คน สุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้น และวิธีจับฉลาก เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบสอบถาม มีค่าความเชื่อมั่น .๘๖ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป สถิติที่ใช้ ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที (t–test) และการทดสอบความแปรปรวนทางเดียว (F-test) การวิจัยเชิงคุณภาพ กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน ๑๐ คน และครูผู้สอน จำนวน ๑๐ คน รวมทั้งสิ้นจำนวน ๒๐ คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบสัมภาษณ์ และโดยใช้การวิเคราะห์เชิงพรรณนา
ผลการวิจัยพบว่า
๑. สภาพการบริหารตามหลักอิทธิบาท ๔ ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาฬสินธุ์ เขต ๒ พบว่า โดยภาพรวม มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ คือ ด้านการบริหารสถานศึกษาตามหลักจิตตะ รองลงมา คือ ด้านการบริหารสถานศึกษาตามหลักวิมังสา และด้านการบริหารสถานศึกษาตามหลักวิริยะ ตามลำดับ ส่วนด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ ด้านการบริหารสถานศึกษาตามหลักฉันทะ
๒. การเปรียบเทียบความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอนเกี่ยวกับสภาพการบริหารตามหลักอิทธิบาท ๔ จำแนกตามตำแหน่งหน้าที่ วุฒิการศึกษา และประสบการณ์การทำงาน พบว่า โดยภาพรวมและรายด้าน แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๑ ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้
๓. แนวทางในการพัฒนาส่งเสริมการบริหารตามหลักอิทธิบาท ๔ ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ๑) ด้านการบริหารสถานศึกษาตามหลักฉันทะ ควรจัดให้มีการประชุมสัมมนาส่งเสริมการสร้างขวัญและกำลังใจแก่บุคลากรในสถานศึกษาให้มีความรักและความเอาใจใส่การปฏิบัติหน้าที่ ๒) ด้านการบริหารสถานศึกษาตามหลักวิริยะ ควรมีความเพียรพยายามในการจัดสรรหางบประมาณเพื่อให้เพียงพอต่อการบริหารจัดการภาระ ๓) ด้านการบริหารสถานศึกษาตามหลักจิตตะ ควรเอาใจใส่ในการกำหนดนโยบายและแผนงานในการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียน ๔) ด้านการบริหารสถานศึกษาตามหลักวิมังสา ควรมีการคิดวิเคราะห์กำหนดนโยบายและแผนงานในการบริหารจัดการภาระงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
Download |