การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยใช้หลักการมีส่วนร่วม บวร สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต ๓ และ ๒) เพื่อศึกษาแนวทางการส่งเสริมการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยใช้หลักการมีส่วนร่วม บวร สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต ๓ โดยใช้รูปแบบการวิจัยวิธีวิทยาแบบผสม (Mixed Methodology Research) กลุ่มตัวอย่างได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา และครูผู้สอน จำนวนทั้งสิ้น ๓๒๒ คน กำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่างโดยใช้ตามตารางของเครซี่และมอร์แกน โดยการสุ่มอย่างง่าย และการวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้กลุ่มเป้าหมายจำนวน ๑๐ คน โดยการเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ได้แก่แบบสอบถาม มีค่าความเชื่อมั่น .๙๗ และแบบสัมภาษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบน วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ โดยการวิเคราะห์เชิงพรรณนา นำข้อมูลเชิงปริมาณมาสังเคราะห์กับข้อมมูลเชิงคุณภาพ โดยอาศัยวิธีการอุปนัยวิธี
ผลการวิจัยพบว่า
๑. การบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโดยใช้หลักการมีส่วนร่วม บวร โดยภาพรวม มีระดับปฏิบัติอยู่ในระดับ มาก และเมื่อจำแนกเป็นรายด้าน พบว่า มีระดับปฏิบัติ
อยู่ในระดับมากที่สุด ๑ ด้าน และมีระดับปฏิบัติในระดับมาก ๓ ด้าน โดยด้านที่มีระดับปฏิบัติสูงสุดคือ คือ ด้านการบริหารงานทั่วไป มีระดับปฏิบัติระดับการมีส่วนร่วมอยู่ที่ ๔.๖๐ รองลงมา คือ ด้านการบริหารงานวิชาการ มีระดับปฏิบัติการมีส่วนร่วมอยู่ที่ ๔.๑๐ และลำดับถัดมาก็ คือ ด้านการบริหารงานงบประมาณ มีระดับปฏิบัติการมีส่วนร่วมอยู่ที่ ๓.๘๕ ตามลำดับ ส่วนด้านที่มีระดับปฏิบัติต่ำสุด คือ ด้านการบริหารงานบุคคล มีระดับปฏิบัติการมีส่วนร่วมอยู่ที่ ๓.๗๓
๒. แนวทางการส่งเสริมการบริหารสถานศึกษาแบบมีส่วนร่วม บวร เป็นดังนี้ ควรส่งเสริมให้ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้นำชุมชน และผู้นำทางศาสนา มีความรู้ความสามารถ เข้าใจในแนวทางการมีส่วนร่วมตามหลัก บวร (บ้าน วัด โรงเรียน) ให้มาก และผู้บริหารควรเปิดโอกาสให้เข้ามามีส่วนในการวางแผน การตัดสินใจ การส่งเสริม การพัฒนา และตลอดถึงการร่วมกันลงมือปฏิบัติ ประเมินผลการปฏิบัติ ทั้งด้านการบริหารงานวิชาการ ด้านการบริหารงานงบประมาณ ด้านการบริหารงานบุคคล และด้านการบริหารงานทั่วไป อย่างเต็มที่ เพื่อเป็นการเติมเต็มและเกิดมิติทางการบริหารอย่างครอบคลุม และมั่นคง เพื่อการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาต่อไป
Download |