การวิจัยเรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์ในการวิจัย ดังนี้ ๑. เพื่อศึกษาพุทธวิธีการจัดการเรียนการสอน กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ระดับมัธยมศึกษา ของโรงเรียนสังกัดเทศบาลนครขอนแก่น ๒. เพื่อศึกษาเปรียบเทียบ พุทธวิธีการจัดการเรียนการสอน กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ระดับมัธยมศึกษา ของโรงเรียนสังกัดเทศบาลนครขอนแก่น ๓. เพื่อเสนอแนวทางการพัฒนา พุทธวิธีการจัดการเรียนการสอน กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ระดับมัธยมศึกษา ของโรงเรียนสังกัดเทศบาลนครขอนแก่น การศึกษานี้ใช้วิธีวิทยาการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research Methodology) กับกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย จำนวน ๓๔๕ คน เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าความถี่ (Frequency), ค่าร้อยละ (Percentage), ค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation), สถิติทดสอบค่าที (Independent Samples Test : t-test) สถิติการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว(One Way Analysis of variance : F-Test) และทดสอบความแตกต่างเป็นรายคู่ด้วยวิธีของเซฟเฟ่ (Scheffe’s)
ผลการวิจัยพบว่า
พุทธวิธีการจัดการเรียนการสอน กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ระดับมัธยมศึกษา ของโรงเรียนสังกัดเทศบาลนครขอนแก่น โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก ทั้ง ๕ ด้าน ได้แก่ ด้านหลักสูตร ด้านการจัดการเรียนการสอน ด้านการวัดและประเมินผล ด้านการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ด้านการใช้สื่อการเรียนการสอน
การวิเคราะห์เปรียบเทียบความคิดเห็นของนักเรียนต่อ พุทธวิธีการจัดการเรียนการสอน กลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ระดับมัธยมศึกษา ของโรงเรียนสังกัดเทศบาลนครขอนแก่น จำแนกตามระดับชั้นเรียน ขนาดสถานศึกษา และอาชีพผู้ปกครองนั้น นักเรียนมีความคิดเห็นต่อพุทธวิธีการจัดการเรียนการสอนกลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ระดับมัธยมศึกษา ของโรงเรียนสังกัดเทศบาลนครขอนแก่น แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้
ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับพุทธวิธีการจัดการเรียนการสอนกลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ระดับมัธยมศึกษา ของโรงเรียนสังกัดเทศบาลนครขอนแก่นนั้น ครูควรมีการสอนที่บูรณาการกับสภาพแวดล้อม สังคม วัฒนธรรมและกับภูมิปัญญาท้องถิ่น สอดคล้องกับสถานการณ์สังคมปัจจุบัน สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตได้ ครูควรใช้วิธีการสอนที่หลากหลาย ใช้สื่อเทคโนโลยีอุปกรณ์ที่ทันสมัยเหมาะสมในการจัดการเรียนรู้ มีพัฒนาสื่อและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ให้นักเรียนได้ศึกษา ได้คิดวิเคราะห์เรียนรู้ด้วยตนเองในพื้นที่จริง ทั้งควรสนับสนุนให้นักเรียนได้แสดงความสามารถ ความถนัด และความสนใจของตน ครูควรมีการวัดและประเมินผลตามสภาพจริง และมีการนำผลการประเมินมาปรับปรุงวิธีการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เต็มศักยภาพ และนำความรู้ความสามารถไปปรับประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน ตลอดทั้งการประกอบอาชีพในยุคปัจจุบันให้ประสบความสำเร็จได้
Download
|