การวิจัยเรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. ศึกษาศักยภาพพระวิปัสสนาจารย์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของสำนักปฏิบัติธรรมในเขตการปกครองคณะสงฆ์ ภาค 2 2. นำเสนอรูปแบบการพัฒนาศักยภาพพระวิปัสสนาจารย์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของสำนักปฏิบัติธรรมในเขตการปกครองคณะสงฆ์ภาค 2 โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ที่ใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) จากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ 3๐ รูปหรือคน เพื่อศึกษาการพัฒนาศักยภาพพระวิปัสสนาจารย์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของสำนักปฏิบัติธรรมในเขตการปกครองคณะสงฆ์ ภาค 2 แล้วนำมาวิเคราะห์เพื่อหารูปแบบเบื้องต้นก่อนนำเสนอต่อการสนทนากลุ่มเฉพาะ เพื่อพัฒนารูปแบบให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และนำเสนอต่อเวทีประชาพิจารณ์ เพื่อให้ได้รูปแบบที่เป็นมาตรฐานก่อนที่จะนำเสนองานวิจัยต่อสาธารณะ
ผลการวิจัย พบว่า
๑) พระวิปัสสนาจารย์ ในเขตการปกครองคณะสงฆ์ ภาค 2 มีความรู้และความสามารถอยู่ในระดับที่ดี มีศักยภาพในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปสู่พุทธศาสนิกชนได้ เพียงแค่ต้องมีการพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น บางรูปมีทักษะและความรู้ทางด้านวิชาการ บางรูปมีความสามารถและความชำนาญในการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ซึ่งต่างก็มีข้อดีข้อด้อยแตกต่างกันไป ดังนั้น การเรียนรู้เพิ่มเติม แลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน จะเป็นส่วนช่วยในการพัฒนาศักยภาพของพระวิปัสสนาจารย์ให้ดียิ่งขึ้นไปอีกขั้น เป็นบุคลากรที่มีความสมบูรณ์พร้อมต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะการพัฒนาตนเองอย่างไม่หยุดนิ่ง ก็จะส่งผลให้มีทักษะความสามารถมากยิ่งขึ้น และเป็นกำลังในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้อย่างยั่งยืนต่อไป
๒) รูปแบบการพัฒนาศักยภาพพระวิปัสสนาจารย์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของสำนักปฏิบัติธรรมในเขตการปกครองคณะสงฆ์ภาค 2 ด้านความรู้ ควรให้ความรู้แบบฝังความรู้ คือ การฝึกอบรมโดยการเอาความรู้ใส่ให้กับบุคลากร ให้เกิดการซึมซับความรู้นั้น จากนั้นก็สามารถเรียนรู้ได้จากบุคคลอื่นๆ ที่มีศักยภาพอยู่แล้ว โดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันและกัน รวมถึงนำเอาความรู้จากบุคคลถ่ายทอดสู่บุคคล แล้วนำไปสู่การพัฒนาที่ควบเอาความรู้ที่หลากหลายเข้าด้วยกันได้ ด้านทักษะ อบรมการปฏิบัติงานหรือส่วนที่เกี่ยวข้อง การปฏิบัติงานร่วมกับผู้อื่น หรือการทำงานเป็นทีมเหล่านี้ เป็นต้น ต้องอาศัยทักษะซึ่งกันและกัน และร่วมกันจึงจะประสบผลสำเร็จ แล้วเรียนรู้เพิ่มเติมด้วยความกระตือรือร้นที่จะไขว่คว้าความรู้ใส่ตนเอง รู้จักที่จะบริหารจัดการงานต่างๆ อย่างเหมาะสม เมื่อต้องเผชิญกับปัญหา ก็สามารถแก้ไขปัญหานั้นให้ผ่านไปได้ด้วยดี ซึ่งเป็นทักษะที่ต้องมีประสบการณ์อย่างมากทีเดียว ด้านบุคลิกภาพ ควรใช้การอบรมเพื่อพัฒนาบุคลิกภาพทางร่างกาย และการแสดงออกทางอารมณ์ แล้วนำไปสู่การเรียนรู้โดยการศึกษา สร้างแรงจูงใจ และสร้างค่านิยมและความสนใจในการสร้างบุคลิกภาพที่ดี น่าเลื่อมใส จนกระทั่งพัฒนาให้เป็นบุคคลที่มีเชาว์ปัญญาดี ด้านอุปนิสัย ควรสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน มิตรสหาย เพื่อให้การปฏิบัติงานหรือการทำหน้าที่เป็นไปด้วยความราบรื่น ฝึกการมองให้เห็นตามความเป็นจริง ด้วยการลงมือทำหรือปฏิบัติอย่างจริงจัง จนเห็นเป็นเหตุและผลอย่างชัดเจน โดยผ่านกระบวนการการฝึกอบรม แล้วจึงค่อยๆ สร้างแรงจูงใจและสิ่งเร้า เพื่อกระตุ้นเจตคติและศึกษาเรียนรู้เจตคติเชิงบวก เป็นการศึกษาเพิ่มเติมจากการปฏิบัติ และนำทั้งความรู้และการปฏิบัติสู่การพัฒนาที่สามารถทำความเข้าใจในสิ่งต่างๆ ได้อย่างถ่องแท้ ด้านทัศนคติ รวบรวมความรู้ ประสบการณ์ ทักษะ ประกอบควบเข้าด้วยกัน เกิดการวิวัฒนาการความคิดใหม่ เป็นความคิดที่แปลกใหม่และสร้างสรรค์ รู้จักที่จะพลิกแพลงวิธีการ กระบวนการ รวมถึงทิศทางที่จะดำเนินไปสู่เป้าหมายได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากที่สุด สร้างความคิดแปลกใหม่ ผสมผสานจากการปฏิบัติ จากการเรียนรู้ให้เกิดความคิดสร้างสรรค์
Download |