การวิจัยฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ คือ ๑. เพื่อวิเคราะห์สภาพทั่วไปและปัญหาในการจัดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีในจังหวัดชลบุรี ๒. เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อแรงจูงใจของนักเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีในจังหวัดชลบุรี ๓. เพื่อนำเสนอการพัฒนาแรงจูงใจของนักเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีในจังหวัดชลบุรี
ระเบียบวิธีวิจัยเป็นแบบผสานวิธีโดยใช้การวิจัยเชิงคุณภาพเป็นหลักและสนับสนุนด้วยการวิจัยเชิงปริมาณตามลำดับ การวิจัยเชิงคุณภาพ ผู้วิจัยเก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญจำนวน ๑๘ รูป ได้แก่ พระสังฆาธิการ โดยวิธีการเลือกแบบเจาะจง และสนทนากลุ่มเฉพาะ ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน ๑๓ รูปหรือคน วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหาเชิงพรรณนาการวิจัยเชิงปริมาณ ผู้วิจัยได้สร้างแบบสอบถามซึ่งมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ ๐.๙๐๗ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นพระสงฆ์ จำนวน ๓๗๑ รูป วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า
๑. วิเคราะห์สภาพทั่วไปและปัญหาในการจัดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีด้วยการวิเคราะห์ SWOT ด้านจุดแข็ง ปัจจุบันมีสำนักเรียนที่มีความพร้อมทั้งในด้านนักเรียนครูผู้สอนสถานที่พักตลอดจนทุกอุดหนุน ผลิตมหาเปรียญปีละหลายสิบรูป ด้านจุดอ่อน ขาดนักเรียน และครูที่มีความชำนาญหลายสำนักเรียนที่เคยมีชื่อเสียงต้องปิดตัวลงเพราะขาดบุคลากรและนักเรียนรวมถึงการขาดการสนับสนุน ด้านโอกาส เจ้าสำนักที่มีกำลังความสามารถโดยเฉพาะด้านการเงิน/คน/มีการจัดการที่ดี ทำให้การเรียนการสอนยังมีอยู่ถ้ามีการสนับสนุนจากหลายภาคส่วนสำนักเรียนที่ปิดตัวลงก็อาจจะกลับฟื้นตัวขึ้นมาได้ ด้านอุปสรรค ขาดบุคลากร คือ นักเรียน ขาดทุนสนับสนุน ซึ่งทั้งสองส่วนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำเคลื่อนการศึกษาในส่วนนี้ ความคิดเห็นต่อการศึกษาแรงจูงใจของนักเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีในจังหวัดชลบุรี โดยภาพรวมอยู่ในระดับเห็นด้วยมาก และตามหลักอิทธิบาท ๔ โดยภาพรวมอยู่ในระดับเห็นด้วยมาก
๒.ปัจจัยที่ส่งผลต่อแรงจูงใจของนักเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ใช้หลักวงจร PDCA มีการวางแผน การปฏิบัติ การตรวจสอบ และการปรับปรุงแก้ไข ต้องคำนึงถึงว่าสำนักเรียนแต่ละสำนักมีความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนแตกต่างกัน มีการประชุมวางร่วมกันทุกสำนักเรียนในจังหวัดให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตั้งกองทุนการศึกษาสนับสนุนในด้านปัจจัยที่แน่นอนชัดเจน เจ้าสำนักจะต้องให้ความสำคัญปฏิบัติงานร่วมกับบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในทุกกระบวนการ ตรวจสอบการปฏิบัติงานหาเมื่อเกิดข้อบกพร่องต้องรีบแก้ไขปรับปรุงและพัฒนาให้การทำงานขับเคลื่อนไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
๓.นำเสนอการพัฒนาแรงจูงใจของนักเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีในจังหวัดชลบุรี ต้องมีการจัดประชุมระหว่างสำนักเรียนร่วมกันวิเคราะห์สภาพปัญหาปัจจุบันในการจัดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ตามกระบวนการขั้นตอน คือ การวางแผน การปฏิบัติ การตรวจสอบ การปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้รับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นกับนักเรียนเพื่อปรับปรุงกระบวนการขั้นต้น นำไปสู่แนวทางการสร้างแรงจูงใจของนักเรียน คือ ความตั้งใจ ความสัมพันธ์เกี่ยวข้อง ความมั่นใจ ความพึงพอใจ เชื่อมโยงกับหลักพุทธธรรมอิทธิบาท ๔ คือ ๑) ฉันทะ ๒) วิริยะ ๓) จิตตะ ๔) วิมังสา ที่นำมาใช้ในการสร้างแรงจูงใจให้กับนักเรียนโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานการมองเห็นประโยชน์ของการศึกษาร่วมกันช่วยเหลือเกื้อกูลสนับสนุนปัจจัยในทุกด้าน สร้างความเชื่อมั่นว่าการศึกษาไม่ว่ารูปแบบใดก็ตามจะสามารถพัฒนาชีวิตของตนให้ดีขึ้นได้
Download |