การวิจัยฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ คือ ๑. เพื่อศึกษาสภาพทั่วไปของบทบาทพระสงฆ์ในการป้องกันปัญหายาเสพติดให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาจังหวัดสระบุรี ๒. เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อบทบาทพระสงฆ์ในการป้องกันปัญหายาเสพติดให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาจังหวัดสระบุรี ๓. เพื่อนำเสนอรูปแบบการส่งเสริมบทบาทพระสงฆ์ในการป้องกันปัญหายาเสพติดให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาจังหวัดสระบุรี
ระเบียบวิธีวิจัยเป็นแบบผสานวิธีโดยใช้การวิจัยเชิงคุณภาพเป็นหลักและสนับสนุนด้วยการวิจัยเชิงปริมาณตามลำดับ การวิจัยเชิงคุณภาพ ผู้วิจัยเก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญจำนวน ๒๑ รูปหรือคน ได้แก่ พระสังฆาธิการ เจ้าหน้าที่ภาครัฐ และประชาชนที่เป็นผู้นำท้องถิ่นโดยวิธีการเลือกแบบเจาะจง และสนทนากลุ่มเฉพาะ ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน ๑๐ รูปหรือคน วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหาเชิงพรรณนาและการวิจัยเชิงปริมาณ ผู้วิจัยได้สร้างแบบสอบถามซึ่งมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ ๐.๙๔๕ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักเรียนมัธยมศึกษาจังหวัดสระบุรี จำนวน ๓๖๖ คน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า
๑. สภาพทั่วไปของบทบาทพระสงฆ์ในการป้องกันปัญหายาเสพติดให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาจังหวัดสระบุรี ด้วยการวิเคราะห์ SWOT Analysis ด้านจุดแข็ง การจัดอบรมคุณธรรมจริยธรรมโดยให้นักเรียนมีส่วนร่วมผ่านการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย ด้านจุดอ่อน ขาดการส่งเสริมให้พระสงฆ์มีบทบาทในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดต่อเยาวชน ด้านโอกาส ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ชุมชน และสถานศึกษาอย่างจริงจังและต่อเนื่องมากขึ้น ด้านอุปสรรค ขาดการสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพราะส่วนใหญ่มองว่าไม่ใช่หน้าที่ของพระสงฆ์โดยตรง ความคิดเห็นต่อสภาพการส่งเสริมบทบาทพระสงฆ์ในการป้องกันปัญหายาเสพติดให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาจังหวัดสระบุรี ตามแนวคิดการป้องกันปัญหายาเสพติด โดยภาพรวม อยู่ในระดับปานกลาง (=๓.๓๔) และตามหลักพรหมวิหาร ๔ โดยภาพรวม อยู่ในระดับปานกลาง (=๓.๔๑)
๒. ปัจจัยที่ส่งผลต่อบทบาทพระสงฆ์ในการป้องกันปัญหายาเสพติดให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาจังหวัดสระบุรี ตามแนวคิดปัจจัย (4M) คือ ๑) บุคคล ขาดบุคลากรที่มีบทบาทโดยตรงเพื่อให้ความรู้แก่นักเรียน ๒) การเงิน ขาดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการจัดหางบประมาณ ๓) วัสดุอุปกรณ์ ขาดเทคโนโลยีสื่อสารเพี่อผลิตสื่อที่ รวมถึงยานพาหนะในการเดินทาง ๔) การจัดการ ยังไม่มีการวางแผนการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม เชื่อมโยงกับหลักพุทธธรรมพรหมวิหาร ๔ ได้แก่ ๑) เมตตา ดูแลให้คำปรึกษา ชี้ให้เห็นโทษของยาเสพติด ๒) กรุณา ไม่ซ้ำเติมสร้างกำลังใจ รับฟังปัญหา ให้โอกาสกลับกลับตัว ๓) มุทิตา มีความปรารถนาดีไม่ตำหนิข้อบกพร่องผู้อื่น ๔) อุเบกขา ดูแลรักษาฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ วางตัวเป็นกลางไม่เอนเอียงไม่มีอคติ
๓. รูปแบบการส่งเสริมบทบาทพระสงฆ์ในการป้องกันปัญหายาเสพติดให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาจังหวัดสระบุรี คือ ๑) ด้านการให้ข่าวสาร เผยแผ่หลักธรรมควบคู่กับการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ข้อมูลเรื่องยาเสพติดโดยใช้เทคโนโลยีเป็นช่องทางสื่อสารให้นักเรียนได้รับรู้ ๒) การให้การศึกษาด้านจิตใจหรือความรู้สึก ให้นักเรียนมีส่วนร่วมจัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นเกาะป้องกันยาเสพติด ๓) การเป็นที่ปรึกษาให้เพื่อน เปิดโอกาสให้นักเรียนนำปัญหามาขอคำปรึกษา ๔) การให้การศึกษาเกี่ยวกับการทำงาน ผลิตสื่อและจัดกิจกรรมให้คำแนะนำด้านการศึกษาและการทำงาน ๕) การสร้างสื่อสัมพันธ์ภายในวัดและโรงเรียน เข้าถึงชุมชนรับฟังปัญหา ส่งเสริมภูมิปัญญาชาวบ้านสร้างอาชีพ ๖) การให้ทางเลือก ร่วมดำเนินการระหว่างภาครัฐ สถาบันศึกษา สถาบันศาสนา จัดโครงการจิตอาสาสาธารณะ ส่งเสริมด้านกีฬาให้สุขภาพร่างกายดีสุขภาพจิตใจดี
Download
|