ดุษฎีฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ ๑. เพื่อศึกษาสภาพทั่วไปและปัญหาในการจัดการสุขภาวะแบบองค์รวมสำหรับผู้สูงอายุของพระสงฆ์จังหวัดตราด ๒. เพื่อศึกษาองค์ประกอบในการจัดการสุขภาวะแบบองค์รวมสำหรับผู้สูงอายุของพระสงฆ์จังหวัดตราด และ ๓. เพื่อนำเสนอรูปแบบการจัดการสุขภาวะแบบองค์รวมสำหรับผู้สูงอายุของพระสงฆ์จังหวัดตราด การวิจัยครั้งนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ โดยทำการวิจัยเชิงเอกสาร กับการสัมภาษณ์เชิงลึก จากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน ๓๐ รูปหรือคน และการสนทนากลุ่มเฉพาะ จำนวน ๑๑ รูปหรือคน ประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูล ข้อเสนอแนะที่ได้นำมาวิเคราะห์ ในลักษณะเชิงบรรยาย
ผลการวิจัยพบว่า
๑. สภาพทั่วไปในการจัดการสุขภาวะแบบองค์รวมสำหรับผู้สูงอายุของพระสงฆ์จังหวัดตราด พบว่า พระสงฆ์สูงอายุทำกิจส่วนตัวส่วนรวม มีโภชนาการที่ดี สังฆประชานุเคราะห์ช่วยกันไป การได้เทศน์บรรยายธรรม ประชุมทำกิจกรรมร่วมกัน การจัดการในวัดนอกวัด การร่วมช่วยเหลือเป็นที่พึ่งของชุมชนและสังคม มีการฝึกจิต มีการปล่อยวาง นำผู้สูงอายุปฏิบัติ ปฏิบัติธรรมทุกวันพระ และผู้สูงอายุเข้าวัดทำบุญฟังธรรม
๒. องค์ประกอบในการจัดการสุขภาวะแบบองค์รวมสำหรับผู้สูงอายุของพระสงฆ์จังหวัดตราด ประกอบด้วย ๑) กายภาวนา พระสงฆ์สูงอายุให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ ออกกำลังกายเท่าที่ทำได้ควบคุมการทานอาหาร การพักผ่อน การบริหารอิริยาบถ ตรวจสุขภาพประจำปี ๒) ศีลภาวนา พระผู้สูงอายุทำกิจวัตรในวัดและนอกวัดได้ตามอัตภาพ โยมสูงอายุมีกิจกรรมออกกำลังกายร่วมกันสวดมนต์ไหว้พระเป็นการเพิ่มพลังด้านจิตใจ ๓) จิตตภาวนา พระสงฆ์จัดปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา แบบยุบหนอ พองหนอ เพื่อส่งเสริมสุขภาวะทางด้านจิตใจของผู้สูงอายุ มีการสอนผ่านสื่อให้เข้าใจง่ายสามารถนำมาใช้กับผู้สูงอายุได้ พระสงฆ์ทำงานร่วมกับโรงพยาบาลจัดการตรวจสุขภาพทุกๆ เดือนทำให้ภาวะจิตใจของผู้สูงอายุดีขึ้น ๔) ปัญญาภาวนา มีโครงการเอื้อประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับชุมชน จัดโครงการสอนให้ผู้สูงอายุมีการฝึกทักษะการคิดเลขให้ผู้สูงอายุฝึกการใช้สมอง การดูแลสุขภาพ การดำรงชีวิต เรื่องของจิตเรื่องของปัญญา
๓. รูปแบบการจัดการสุขภาวะแบบองค์รวมสำหรับผู้สูงอายุของพระสงฆ์จังหวัดตราดพบว่า มี ๔ รูปแบบ คือ ๑) สุขภาวะทางกาย ส่งเสริมให้ทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ การออกกำลังกายดูแลสุขภาพรักษาสุขภาพ การจัดสภาพแวดล้อมภายในบ้าน การประกอบสัมมาอาชีวะ ๒) สุขภาวะทางสังคม การจัดกิจกรรมระหว่างวัด ครอบครัว เพื่อนบ้าน จัดการเรียนรู้ของผู้สูงอายุ จัดการกิจกรรมทางสังคมของชมรมผู้สูงอายุส่งเสริมวินัยการอยู่ร่วมกัน มีการประชุมวางแผนร่วมกัน ๓) สุขภาวะทางจิตใจ พระสงฆ์จัดกิจกรรมปฏิบัติธรรมเพื่อส่งเสริมสภาพจิตใจของผู้สูงอายุ สร้างความอบอุ่นภายในครอบครัวและชุมชนมีจิตอาสา ช่วยเหลือผู้สูงอายุในการดำเนินชีวิตให้มีความสุขใช้เวลาให้มีคุณค่า ๔) สุขภาวะทางปัญญา การจัดการกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาด้วยการปฏิบัติธรรมของชมรมผู้สูงอายุด้วยการเจริญภาวนาบำเพ็ญบุญ เข้าใจหลักธรรมชาติอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ไม่เห็นแก่ตัวมีส่วนร่วมคิดช่วยผู้อื่น ตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท แก้ปัญหาด้วยปัญญาทางธรรมะ
Download |