งานวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ๑. ศึกษาสภาพทั่วไปในปฏิบัติงานของพระวินยาธิการ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ๒. ศึกษาปัจจัยที่ส่งผลกับการพัฒนาศักยภาพในการปฏิบัติงานของพระวินยาธิการ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ๓. นำเสนอกลไกการพัฒนาศักยภาพในการปฏิบัติงานของพระวินยาธิการ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ระเบียบวิธีวิจัยเป็นแบบผสานวิธี ระหว่างวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ จากการวิเคราะห์เอกสาร และการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน ๑๘ รูปหรือคน วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงอรรถาธิบายและพรรณนาความ แล้วจึงสร้างรูปแบบเบื้องต้น ก่อนนำเสนอผู้เชี่ยวชาญจำนวน ๑๒ รูปหรือคน ยืนยันรูปแบบอีกครั้งหนึ่งในการสนทนากลุ่มเฉพาะ และวิจัยเชิงปริมาณ เก็บข้อมูลจากแบบสอบถาม จำนวน ๑๘๑ ชุด กับกลุ่มตัวอย่างคือพระวินยาธิการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งใช้วิธีการสุ่มแบบชั้นภูมิ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสังคมศาสตร์ สถิติที่ใช้คือค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่าความสัมพันธ์สหสัมประสิทธิ์
ผลการวิจัยพบว่า
๑. ผลการวิเคราะห์สภาพทั่วไปในการปฏิบัติงานของพระวินยาธิการ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบว่า เจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นหัวหน้าพระวินยาธิการประจำจังหวัด ดูแลเอาใจใส่ต่อการปฏิบัติงานของพระวินยาธิการเป็นอย่างดีมีการแต่งตั้งเจ้าคณะตำบลทุกตำบลในเขตปกครองคณะสงฆ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้เป็นพระวินยาธิการ ทำหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยในเขตปกครองคณะสงฆ์ของตนเอง และมีการประชุมกันทุกเดือน ปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงาน คือ ยังขาดงบประมาณสนับสนุนในการปฏิบัติหน้าที่ของพระวินยาธิการ อาทิเช่น ค่าพาหนะในการเดินทาง ค่าประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
๒. ปัจจัยที่ส่งผลกับการพัฒนาศักยภาพในการปฏิบัติงานของพระวินยาธิการ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบว่า พระวินยาธิการในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีระดับปฏิบัติการในการปฏิบัติงานอยู่ในระดับปานกลาง ( = ๓.๔๔ , S.D. = ๐.๕๕๗) เพื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ด้านการปฏิบัติงานของพระวินยาธิการมีค่าเฉลี่ยมากกว่าด้านอื่นๆ คือ ด้านสมรรถนะในการทำงาน ด้านคุณลักษณะพื้นฐาน และ ด้านปัจจัยในการทำงาน ตามลำดับ ผลการทดสอบสมมติฐานการวิจัย พบว่า การเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยที่ส่งผลในการทำงาน ปัจจัยด้านคุณลักษณะพื้นฐาน และ ปัจจัยด้านประเภทของสมรรถนะในการทำงาน กับการปฏิบัติงานของพระวินยาธิการ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาโดยการหาค่าสหสัมพันธ์ Pearson พบว่า ค่า Significant Level มีค่าเท่ากับ ๐.๐๐๐ ซึ่งน้อยกว่า ๐.๐๕ นั่นคือ ปัจจัยที่ส่งผลในการทำงาน ปัจจัยด้านคุณลักษณะพื้นฐาน และ ปัจจัยด้านประเภทของสมรรถนะในการทำงาน กับการปฏิบัติงานของพระวินยาธิการมีความสัมพันธ์กัน
๓.กลไกการพัฒนาศักยภาพในการปฏิบัติงานของพระวินยาธิการประกอบด้วย ๕ กลไก คือ (๑) ศึกษาจัดทำข้อมูลพื้นฐานของหน่วยงานให้เป็นระบบ ฐานข้อมูลจำนวนพระภิกษุสามเณรในจังหวัด ฐานข้อมูลพระวินยาธิการในจังหวัด (๒) จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพด้วยการส่งพระวินยาธิการไปศึกษาหลักสูตรพระวินยาธิการ, นิติศาสตรบัณฑิต (๓) พัฒนาขีดความสามารถตามหลักไตรสิกขา คือ ศีล ส่งเสริมให้พระวินยาธิการมีศีลาจารวัตรเรียบร้อยเป็นแบบอย่างที่ดี ๒. สมาธิ พระวินยาธิการต้องนิ่ง ไม่เอนเอียงตามอคติ และ ๓. ปัญญา พระวินยาธิการต้องแสวงหาความรู้อยู่ตลอดเวลา ต้องแม่นพระธรรมวินัย และกฎหมาย (๔) การให้คำปรึกษาด้วยการจัดตั้งสำนักงานพระวินยาธิการกลาง และมีเจ้าหน้าที่คอยให้บริการ และ (๕) การติดตามและประเมินผล มีการติดตามผลการปฏิบัติงานและรายงานเจ้าคณะผู้ปกครองทราบ
Download |