การวิจัยฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ คือ ๑. เพื่อวิเคราะห์สภาพทั่วไปและปัญหาของการบริหารจัดการสำนักปฏิบัติธรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ๒. เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อการบริหารจัดการสำนักปฏิบัติธรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ๓. เพื่อนำเสนอรูปแบบการประยุกต์หลักอิทธิบาทธรรมเพื่อการบริหารจัดการสำนักปฏิบัติธรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระเบียบวิธีวิจัยเป็นแบบผสานวิธีโดยใช้การวิจัยเชิงคุณภาพเป็นหลักและสนับสนุนด้วยการวิจัยเชิงปริมาณตามลำดับ การวิจัยเชิงคุณภาพผู้วิจัยเก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญจำนวน ๒๒ รูปหรือคน โดยแบ่งเป็น ๓ กลุ่ม คือ ๑) กลุ่มพระสังฆาธิการ ๒) กลุ่มเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ๓) กลุ่มประชาชน โดยวิธีการเลือกแบบเจาะจง(Purposive Selection)และสนทนากลุ่มเฉพาะ(Focus Group Discussion)ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน ๑๑ รูปหรือคน วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหาเชิงพรรณนา การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) ผู้วิจัยได้สร้างแบบสอบถามซึ่งมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ๐.๙๘๓ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้ปฏิบัติธรรมของสำนักปฏิบัติในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน ๓๙๗ รูปหรือคน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation : S.D.)
ผลการวิจัย พบว่า
๑. วิเคราะห์สภาพทั่วไปและปัญหาของการบริหารจัดการสำนักปฏิบัติธรรมด้วยการวิเคราะห์ SWOT Analysis ด้านจุดแข็งสถานที่ปฏิบัติธรรมโดยมากมีความเป็นสัปปายะมีการสนับสนุนการอบรมหลักสูตรพระวิปัสสนาจารย์ต่อเนื่องมีพระวิปัสสนาจารย์ใช้หลักธรรมคำสั่งสอนตรงตามหลักพระพุทธศาสนาโดยยึดหลักการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ด้านจุดอ่อนสำนักปฏิบัติธรรมหลักๆที่เป็นต้นแบบยังมีอยู่น้อยหลักการปฏิบัติธรรมยังใช้หลักสอนแบบสืบต่อกันมาจากครูบาอาจารย์ด้วยความเคารพและศรัทธาส่วนใหญ่นโยบายการบริหารสำนักเป็นไปตามความดำริของเจ้าสำนักด้านโอกาสคณะสงฆ์และหน่วยงานภาครัฐให้การสนับสนุนจัดกิจกรรมของสำนักปฏิบัติธรรมมีการเผยแผ่หลักธรรมคำสอนผ่านทางสื่อสารสนเทศ เว็บไซต์ด้านอุปสรรคสำนักปฏิบัติธรรมแต่ละสำนักมีพื้นฐานประสบการณ์และความพร้อมแตกต่างกัน ขาดความเป็นเครือข่ายเดียวกัน ขาดศูนย์กลางประสานงานร่วมกันและการกระจายข้อมูลข่าวสารติดตามผลไปยังเครือข่าย ขาดการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานที่เป็นรูปธรรม ความคิดเห็นต่อสภาพการบริหารเครือข่ายสำนักปฏิบัติธรรมตามหลักการบริหารงาน ๕ ด้าน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก (=๔.๐๐) และตามหลักอิทธิบาท ๔ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก (=๔.๑๐)
๒. วิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อการบริหารจัดการสำนักปฏิบัติธรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา การบริหารจัดการสำนักปฏิบัติธรรมใช้หลักบริหาร 4m’s มีการบริหารคน บริหารเงินหรืองบประมาณ บริหารวัสดุอุปกรณ์ และการจัดการ จะต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมทั่วไปทั้งภายในและภายนอกว่าแต่ละสำนักมีพื้นฐานประสบการณ์และความพร้อมแตกต่างกัน ดังนั้นต้องมีการประชุมร่วมกันทุกภาคส่วนเพื่อวางแผนการบริหารทำงานให้ชัดเจน ผู้บริหารหรือเจ้าสำนักจะต้องให้ความสำคัญดูแลเอาใจใส่ในการปฏิบัติงานร่วมกันในทุกกระบวนการ
๓. นำเสนอการนำหลักอิทธิบาทธรรมมาประยุกต์ใช้เพื่อการบริหารจัดการสำนักปฏิบัติธรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แนวทางการบริหารเครือข่ายต้องจัดการประชุมพูดคุยปรึกษาหารือร่วมกันของทุกภาคส่วนเพื่อวางแผนร่วมกันการบริหารจัดการงาน ๕ ด้าน ๑) ด้านการวางแผน ๒) ด้านการจัดองค์กร ๓) ด้านบุคลากร ๔) ด้านอำนวยการ ๕) ด้านการกำกับดูแล และเชื่อมโยงต่อไปยังแผนการบริหารปัจจัยที่ส่งผลต่อการบริหาร 4m’s ร่วมกัน ๑) ด้านคน ๒) ด้านเงิน ๓) ด้านวัสดุ ๔) ด้านการจัดการ เชื่อมโยงกับแผนการบริหารหลักพุทธธรรมอิทธิบาท ๔ ร่วมกัน ๑) ฉันทะ ๒) วิริยะ ๓) จิตตะ ๔) วิมังสาโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานมีการรับรู้และมุมมองที่เหมือนกัน มีวิสัยทัศน์ร่วมกัน มีความสนใจหรือผลประโยชน์ร่วนกัน มีส่วนร่วมของสมาชิกในเครือข่าย มีการเสริมสร้างซึ่งกันและกัน มีการเกื้อหนุนพึ่งพากัน มีปฏิสัมพันธ์แลกเปลี่ยนกันและเชื่อมโยงต่อไปยังศูนย์กลางข้อมูลประสานงานและติดตามผลเชื่อมโยงไปยังงานประชาสัมพันธ์ เชื่อมโยงต่อไปยังเจ้าสำนักปฏิบัติธรรมในจังหวัด เชื่อมโยงนำไปปฏิบัติในสำนักของตน ถ้าพบปัญหาอุปสรรคเชื่อมโยงกลับมายังศูนย์กลางข้อมูลประสานงาน
Download
|