การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ คือ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดอภิปรัชญาในอภิธรรมปิฎก ๒) เพื่อศึกษาสารัตถะแห่งคัมภีร์มิลินทปัญหา ๓) เพื่อวิเคราะห์อภิปรัชญาที่ปรากฏในสารัตถะแห่งคัมภีร์มิลินทปัญหาเป็นการวิจัยเชิงเอกสาร (Documentary research) โดยการเก็บข้อมูลจากเอกสารปฐมภูมิ และเอกสารทุติยภูมิ แล้วนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการพรรณนา ตามหลักอุปนัยวิธี
ผลการวิจัยพบว่า
๑) แนวคิดอภิปรัชญาในอภิธรรมปิฎกพบว่า อภิปรัชญานั้นหมายถึงปรมัตถธรรม ที่ประกอบด้วย จิต ได้แก่ กุศลจิต อกุศลจิต และอัพยากตจิต, เจตสิก ได้แก่ เจโตยุตตลักขณะ ๔ ลักษณะ คือ ๑) เอกุปปาทะ เกิดพร้อมกับจิต, ๒) เอกนิโรธ ดับพร้อมกับจิต, ๓) เอกาลมุพนะ รับอารมณ์อย่างเดียวกับจิต ๔) เอกวาถูกะ อาศัยวัตถุอย่างเดียวกับจิต, รูป ได้แก่ ๑) รูปสมุทเทสนัย (มหาภูตรูป, อุปาทายรูป,๒) รูปวิภาคนัย, ๓) รูปสมุฏฐานนัย, ๔) รูปกลาปนัย, และ๕) รูปปวัตติกกมนัย และนิพพานได้แก่ ๑) สันติลักษณะ, ๒) สอุปาทิเสสนิพพาน, ๓) อนุปาทิเสสนิพพาน, ๔) สุญญตนิพพาน, ๕) อนิมิตตนิพพาน, ๖) อัปปณิหตนิพพาน
๒) สารัตถะแห่งคัมภีร์มิลินทปัญหา พบว่า คัมภีร์มิลินทปัญหา แบ่งเป็น ๖ ส่วน ดังนี้ (๑) บุพพกรรมของพระนาคเสนและพระเจ้ามิลินท์ (๒) ปัญหาเงื่อนเดียว (๓) ปัญหาสองเงื่อน (๔) เรื่องที่รู้โดยอนุมาน (๕) ลักษณะแห่งธรรมต่าง ๆ (๖) เรื่องที่จะพึงทราบด้วยอุปมา ส่วนสารัตถะในคัมภีร์มิลินทปัญหาที่เกี่ยวข้องกับปรมัตถธรรมได้แก่ จิต เจตสิก รูป และนิพพาน นั้นปรากฏอยู่ทั่วไปในการถาม-ตอบปัญหาระหว่างพระยามิลินท์กับพระนาคเสนซึ่งไม่ได้ระบุตรง ๆว่าอะไรเป็น จิต เจตสิก รูป และนิพพาน
๓) อภิปรัชญาที่ปรากฏในสารัตถะแห่งคัมภีร์มิลินทปัญหาซึ่งสามารถจัดเป็นหมวดหมู่ได้ ๔ กลุ่ม คือ ๑) มิลินทปัญหาที่เกี่ยวกับปรมัตถธรรมทั้ง ๔ (จิต เจตสิก รูป และนิพพาน), ๒) มิลินทปัญหาที่เกี่ยวกับปรมัตถธรรม ๓ (จิต เจตสิก รูป),๓) มิลินทปัญหาเกี่ยวกับจิต และเจตสิก, และ๔) มิลินทปัญหาที่เกี่ยวกับนิพพาน โดยมีลักษณะการถาม-ตอบปัญหาที่ปรากฏในมิลินทปัญหา