การศึกษาวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาอารมณ์และหลักไตรสิกขา ในพระพุทธศาสนา ๒) เพื่อวิเคราะห์การพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ตามหลักไตรสิกขา และ ๓) เพื่อพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ตามหลักไตรสิกขาของนักเรียน โรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต ๑ กลุ่มประชากรเป้าหมาย คือ นักเรียนที่จากการประเมินความฉลาดทางอารมณ์ที่มีระดับคะแนนที (T score norms) ต่ำกว่า ๔๙ ลงมา จำนวน ๔๕ คน ในปีการศึกษา ๒๕๕๙ ซึ่งได้มาแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ๑) กิจกรรมพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ด้านศีล ด้านสมาธิและด้านปัญญา ๒) แบบประเมิน ความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กอายุ ๖-๑๑ ปี ของกรมสุขภาพจิต สถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ค่าเฉลี่ยและร้อยละแล้วนำเสนอผลการวิจัยด้วยการวิเคราะห์เชิงพรรณนา
ผลของการวิจัยพบว่า
การพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์และหลักไตรสิกขา คือการพัฒนาความฉลาดทางจิต ที่ใช้ในการรับรู้ขอมูลทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมและการกระทำของเด็ก ในช่วงระดับประถมศึกษา อายุ ๖-๑๒ ปี เพื่อจัดการความรู้สึกต่อสิ่งที่มากระทบสัมผัสกับอารมณ์หรือสิ่งเร้าภายนอก ซึ่งเกิดจากการเรียน การอยู่ร่วมกันกับเพื่อน คุณครูและผู้ปกครอง ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ จึงนำหลักไตรสิกขามาพัฒนาเพื่อให้นักเรียนมีพัฒนาการทางกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา มีทักษะในการคิด การพิจารณาตามหลักพุทธศาสนา ในการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ตามหลักไตรสิกขา คือ การพัฒนากระบวนการรับรู้อารมณ์มี ๕ ขั้นตอน คือ ๑) ขั้นผัสสะ เป็นการพัฒนาให้เด็กมีสติต่อการรับรู้ทางอายตนะ ๒) เวทนา เป็นการเรียนรู้และเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง ๓) ขั้นจดจำข้อมูล เป็นขั้นที่เกิดการรู้จำในสิ่งที่มากระทบอย่างถูกต้องและเหมาะสม ๔) ขั้นปรุงแต่งอารมณ์ เป็นการฝึกทักษะทางความคิดในเชิงสร้างสรรค์ ให้เด็กคิดดี และเกิดการวิเคราะห์ข้อมูลได้ถูกต้องและเหมาะสม ๕) ขั้นวิเคราะห์และสังเคราะห์อารมณ์ เป็นการพัฒนาให้เด็กได้บูรณาการข้อมูลความรู้ที่ได้รับทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากการรับรู้จากแหล่งการเรียนรู้ต่างๆ ก่อนการตัดสินใจและลงมือปฏิบัติ
ผลการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ตามหลักไตรสิกขาของนักเรียน โรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต ๑ ได้แก่ ผลการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ด้านศีล ส่งผลให้นักเรียน มีระเบียบวินัย สำรวมกายและวาจา ไม่เบียดเบียนผู้อื่น มีสัมมาคาระ มีจิตสาธารณะช่วยเหลือผู้อื่น มีความพร้อมในการเรียน มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย สามารถปฏิบัติหน้าที่ด้วยตนเองโดยไม่ต้องมีครูมากำกับดูแล ผลการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ด้านสมาธิ นักเรียนมีสมาธิดีขึ้น นิ่งไม่วอกแวก มีความเพียรพยามยามในการทำงานเพิ่มขึ้น ตั้งใจเรียน มีสมาธิในการเรียน มีความเข้มแข็งทางอารมณ์ ทำงานที่ครูมอบหมายได้ถูกต้อง และส่งทันตามกำหนดเวลา และผลการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ด้านปัญญา นักเรียนมีความตั้งใจในการเรียนและมีทักษะในการคิดเพิ่มขึ้น มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ดีขึ้นทุกข้อ และยังพบว่าผลการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ในปีการศึกษา ๒๕๕๙ สูงกว่าระดับประเทศทุกรายวิชา รายวิชาที่มีคะแนนพัฒนามากที่สุด คือ วิชาภาษาไทย คะแนนพัฒนา เท่ากับ ๑๘.๕๓ รองลงมาคือรายวิชาภาษาอังกฤษ คะแนนพัฒนา เท่ากับ ๑๒.๖๔ และรายวิชาที่คะแนนพัฒนาต่ำสุดคือรายวิชาวิทยาศาสตร์ เท่ากับ ๑.๑๙ และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับโรงเรียนก็สูงขึ้นเช่นกัน
Download
|