ดุษฎีนิพนธ์เรื่อง “การพัฒนาสมรรถนะอนุศาสนาจารย์ทหารบกไทยเชิงพุทธบูรณาการ” มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดและทฤษฎีการพัฒนาสมรรถนะตามศาสตร์สมัยใหม่และหลักพุทธธรรมของอนุศาสนาจารย์ทหารบกไทย ๒) เพื่อศึกษาบทบาท ภารกิจ สภาพปัญหา และสมรรถนะอนุศาสนาจารย์ทหารบกไทย ๓) เพื่อเสนอแนวทางการพัฒนาสมรรถนะอนุศาสนาจารย์ทหารบกไทยเชิงพุทธบูรณาการ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพโดยศึกษาจากเอกสาร การสัมภาษณ์เชิงลึก และการสนทนากลุ่มเฉพาะ
ผลการวิจัยพบว่า ทฤษฎีที่เกี่ยวกับการพัฒนาสมรรถนะ คือ ทฤษฎีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทฤษฎีการพัฒนาสมรรถนะ และทฤษฎีวงจรการบริหารคุณภาพ PDCA ซึ่งสมรรถนะที่ต้องการพัฒนามี ๓ อย่าง คือ สมรรถนะทางกาย สมรรถนะทางจิตใจ และสมรรถนะทางปัญญา โดยมุ่งหวังผลคือการใช้สมรรถนะที่ได้รับการพัฒนาแล้วเหล่านี้เพื่อขับเคลื่อนการปฏิบัติภารกิจซึ่งเป็นบทบาทและหน้าที่ของอนุศาสนาจารย์ทหารบกไทยที่สำคัญ ๔ ด้าน คือ ๑) การอบรมการสอนศีลธรรม ๒) การปฏิบัติธรรม ๓) การปฏิบัติศาสนพิธี และ ๔) การเยี่ยมไข้ การพัฒนาสมรรถนะสามารถนำหลักพุทธธรรมมาบูรณาการ คือ ๑) อิทธิบาท ๔, ๒) พรหมวิหาร ๔, ๓) ภาวนา ๔, ๔) กัลยาณมิตรธรรม ๗, ๕) ธรรมเทสกธรรม ๕, ๖) เทศนาวิธี ๔, และ ๗) อนุศาสนีปาฏิหาริย์ การนำหลักธรรมมาผสมผสานเข้าเป็นวิถีการดำเนินชีวิต แนวทางการพัฒนาสมรรถนะอนุศาสนาจารย์ทหารบกไทยเชิงพุทธบูรณาการ เรียกว่า PACKED MODEL ประกอบด้วย P = Planning การวางแผนเตรียมการเพื่อการปฏิบัติ A = Army’s Goal เป้าหมายของกองทัพบกหรือผลที่ต้องการบรรลุถึง C = Cooperation ความร่วมมือกันทั้งทางด้านกายภาพจิตใจและสติปัญญา มีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิด K = Kick-off คือการเริ่มต้นลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง E = Elation อนุศาสนาจารย์มีความภาคภูมิใจในบทบาทและหน้าที่ของตนเอง D = Dharma คือ หลักธรรมะ อนุศาสนาจารย์นำหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนาดังกล่าวแล้วมาประยุกต์ใช้ เพื่อนำไปสู่ความมีคุณภาพแห่งสมรรถนะทางกายทางจิตใจและทางปัญญา
Download
|