การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์๓ประการคือ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดและหลักพุทธธรรมสำหรับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในพระพุทธศาสนาเถรวาท ๒) เพื่อศึกษาแนวคิด บริบทและหลักการสร้างชุมชน วิถีพุทธของสถานปฏิบัติธรรมสวนพุทธธรรมจังหวัดลำพูน ๓) เพื่อวิเคราะห์กระบวนการสร้างชุมชนวิถีพุทธของสถานปฏิบัติธรรมสวนพุทธธรรมจังหวัดลำพูน การศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (qualitative research) มุ่งศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลจากคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถาและศาสตร์สากลในปัจจุบัน และทำการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth interview) กับกลุ่มเป้าหมายสำคัญในประเด็นที่เกี่ยวกับกระบวนการสร้างชุมชนวิถีพุทธของสถานปฏิบัติธรรมสวนพุทธธรรมจังหวัดลำพูน แล้วนำเสนอด้วยกระบวนการวิเคราะห์และสังเคราะห์ในเชิงพรรณนา
ผลการศึกษาพบว่า แนวคิดการพัฒนามนุษย์ในทางพระพุทธศาสนาเถรวาทมาจากความคิดที่ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่รู้คิดด้วยเหตุผลและสามารถพัฒนาตนได้ โดยมีพระพุทธเจ้าทรงเป็นต้นแบบของการพัฒนา ที่สูงสุด พระพุทธศาสนามีองค์ความรู้เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในพระไตรปิฎกซึ่งเราสามารถเลือกมาใช้ในการพัฒนามนุษย์ได้ในทุกระดับภูมิธรรมและองค์ความรู้เหล่านี้รวมอยู่ในกรอบของอริยมรรคมีองค์ ๘ เมื่อพัฒนาแล้วจะนำไปสู่เป้าหมายเดียวกันคือพระนิพพานอันเป็นหนทางแห่งการดับทุกข์ที่แท้จริงและบุคคล ที่มีการพัฒนาตนตามแนวทางของพระพุทธศาสนาจะเข้าถึงอัตถะหรือประโยชน์ ๓ ฝ่าย คือประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่นและประโยชน์ทั้งสองฝ่ายหรือประโยชน์ส่วนรวม
ในด้านหลักการใช้หลักพุทธธรรมในการดำเนินชีวิตและสร้างชุมชนวิถีพุทธของสถานปฏิบัติธรรมแบ่งออกเป็น ๓ ขั้นตอน คือ ๑) การดำเนินชีวิตตามคุณสมบัติของอุบาสก อุบาสิกาที่ดีที่มีปรากฏในพระไตรปิฎก ๒) การดำเนินชีวิตตามแบบอย่างคฤหัสถ์อริยบุคคลในสมัยพุทธกาล ๓) การปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมสำคัญในพระไตรปิฎก โดยมีเป้าหมายหลักคือ การมุ่งพัฒนาทางด้านจิตใจของจิตอาสาและประชาชน ส่วนในด้านแนวทางการประยุกต์ใช้หลักพุทธธรรมในการดำเนินชีวิตและสร้างชุมชนวิถีพุทธของสถานปฏิบัติธรรมใช้รูปแบบการจัดตั้งโครงการและกิจกรรมต่างๆที่หลากหลายและจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นวัฒนธรรมชุมชนตามหลักแห่งอารยวัฒิ ๕ ประการ เพื่อเป็นเครื่องส่งเสริมและเกื้อกูลให้จิตอาสาและประชาชนค่อยๆ พัฒนาตนจนกลายเป็นอุบาสก อุบาสิกาที่ดีและสมัครใจปฏิญาณตนเพื่อมุ่งพัฒนาตน สู่การดำเนินชีวิตตามแนวทางแห่งอริยชนในฐานะคฤหัสถ์ตลอดชีวิตด้วยหลักอริยมรรคมีองค์ ๘ โดยมีคฤหัสถ์อริยบุคคลในสมัยพุทธกาลแบบอย่าง
Download
|