การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ คือ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิด ทฤษฎี และหลักพุทธธรรมเพื่อการบริหารกิจการคณะสงฆ์ ๒) เพื่อศึกษาสภาพการบริหารกิจการคณะสงฆ์ของคณะสงฆ์ภาค ๓ และ ๓) เพื่อเสนอรูปแบบการบริหารกิจการคณะสงฆ์ตามหลักธรรมาภิบาลเชิงพุทธ
การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยแบบผสมผสานของการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ทำการศึกษาด้วยการสำรวจ การวิจัยเชิงเอกสาร การสัมภาษณ์เชิงลึก และการสนทนากลุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถามที่พัฒนาขึ้นตามกรอบของการบริหารกิจการคณะสงฆ์ตามหลัก ธรรมาภิบาลเชิงพุทธและแนวคำถามในการสัมภาษณ์เชิงลึกแบบกึ่งโครงสร้าง
ผลการวิจัยพบว่า การบริหารกิจการคณะสงฆ์เกิดขึ้นภายหลังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนา เกิดพระปัญจวัคคีย์และทรงบัญญัติพระวินัยขึ้น ในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เกิด “มหาเถรสมาคม” ขึ้นและได้พัฒนามาโดยลำดับ มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธานกรรมการและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นเลขาธิการ เพื่อบริหารงานกิจการคณะสงฆ์ผ่านช่องทางของหน่วยงานปกครองตามลำดับชั้น นอกจากนี้แล้วกำหนดให้มีการทำงาน ๖ ด้าน กล่าวคือ ด้านการปกครอง ด้านการศาสนศึกษา ด้านการศึกษาสงเคราะห์ ด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ด้านการสาธารณูปการ ด้านการสาธารณสงเคราะห์
หลักธรรมาภิบาล หมายถึง ระบบโครงสร้างและกระบวนการต่างๆ ที่วางกฎเกณฑ์ของสังคมเพื่อพัฒนาและอยู่ร่วมกันอย่างมีสันติสุข ประกอบด้วยหลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักความมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ หลักความคุ้มค่า โดยหลักพุทธธรรมเพื่อการบริหารกิจการคณะสงฆ์ที่ใช้ในงานวิจัยนี้คือ พรหมวิหาร อิทธิบาท สังคหวัตถุ สารณียธรรม สัปปุริสธรรม และอปริหานิยธรรม ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นเครื่องมือที่จะทำให้ภาคกิจทั้ง ๖ ด้านบรรลุเป้าหมาย
สภาพการบริหารกิจการคณะสงฆ์ของคณะสงฆ์ภาค ๓ ที่ได้จากแบบสอบถาม พบว่า ภาพรวมในทุกประเด็นคำถามอยู่ในระดับที่ดีมาก (มากกว่า ๔.๐ ทุกข้อ) อย่างไรก็ตาม ผลที่ได้จากการสัมภาษณ์เชิงลึกยังคงพบว่าสภาพการบริหารกิจการคณะสงฆ์ของคณะสงฆ์ภาค ๓ นั้นยังมีประเด็นปัญหา อุปสรรค ที่ทำให้ต้องวิเคราะห์ทั้งจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และภาวะคุกคาม (SWOT Analysis) และบูรณาการหลักการต่างๆ จนเกิดรูปแบบการบริหารกิจการคณะสงฆ์ตามหลักธรรมา ภิบาลเชิงพุทธที่เรียกว่า“6D+3M” โดย “6D” หมายถึง ภารกิจทั้ง ๖ ด้านของคณะสงฆ์ ซึ่งเน้นหลักธรรมาภิบาลเชิงพุทธและหลักพุทธธรรมที่แตกต่างกันไปตามภาระหน้าที่ในภารกิจด้านนั้นๆ และ “3M” หมายถึง การจัดบุคคลากร (Man) การจัดงบประมาณ (Money) และ การปฏิบัติการ (Management)
Download
|