ดุษฎีนิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ ๑) เพื่อพัฒนาการจัดการศึกษาเด็กปฐมวัย เชิงพุทธบูรณาการ ๒) เพื่อศึกษาวิเคราะห์นโยบายที่เกี่ยวกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย ๓) เพื่อนำเสนอแนวทางการพัฒนาและการจัดการศึกษาเด็กปฐมวัยเชิงพุทธบูรณาการ การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเอกสารและเชิงคุณภาพด้วยการพรรณนา โดยการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ให้ข้อมูลสำคัญจำนวน ๒๔ รูป/คน
ผลการวิจัย พบว่า แนวคิดการจัดการศึกษาเด็กปฐมวัยเชิงพุทธบูรณาการ ในโรงเรียนระดับปฐมวัยเป็นการจัดประสบการณ์ และส่งเสริมพัฒนาการแบบองค์รวมทุกด้าน ได้แก่ ร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญาตามวัย เพื่อเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตและอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข จัดการเรียนรู้อย่างเหมาะสมกับเด็กปฐมวัย เพื่อให้เด็กมีโอกาสพัฒนาตนเองตามลำดับขั้นของพัฒนาการทุกด้านอย่างสมดุลและเต็มตามศักยภาพ
แนวทางในการเตรียมการจัดการศึกษาปฐมวัย ต้องมีความเป็นกัลยาณมิตร พร้อมที่จะแนะนำสนับสนุน ช่วยเหลือและเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็ก ในส่วนของการจัดกิจกรรมการศึกษาประกอบด้วยในหน่วยของกิจกรรมการเรียนรู้และกิจกรรมที่ใช้ในชีวิตประจำวัน การประเมินผล ประเมินพฤติกรรมทางกาย สังคม จิตใจ และสติปัญญา โดยดูตามลำดับพัฒนาการและความสามารถของเด็กเน้นการประเมินตามสภาพจริง หลักธรรมที่ใช้กับเด็ก ได้แก่ สัมมาทิฎฐิ ไตรสิกขา และปัญญาวุฒิธรรม โดยยึดหลักพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย ดังนี้ ๑) ด้านการพัฒนา ประสบการณ์ ในการรับรู้จากการเรียนรู้ให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีโดยพัฒนาในด้านศีลสิกขา สมาธิ ปัญญา ๒) ด้านความตระหนักในความรับผิดชอบ ให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเด็ก ๓) ด้านการรับความจริงต่อสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ในการพัฒนาการเรียนรู้ ตามนโยบายการจัดการศึกษาปฐมวัย ๔) ด้านการประยุกต์ใช้ เพื่อปรับแนวคิด วิธีการ กระบวนการในการส่งเสริมการจัดการศึกษาพัฒนานโยบาย ทั้งการบูรณาการส่งเสริมประยุกต์หลักธรรมมาพัฒนาเด็ก ๕) ด้านนวัตกรรม (แนวคิด วิธีการ กระบวนการในการจัดการศึกษาปฐมวัย นโยบายและการจัดการเชิงพุทธบูรณาการ)
Download |