วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ ได้แก่ (๑) ศึกษาประวัติความเป็นมาประเพณียี่เป็งของล้านนา (๒) ศึกษารูปแบบและพิธีกรรมประเพณียี่เป็งของล้านนา (๓) ศึกษาหลักพุทธธรรมที่ปรากฏในประเพณียี่เป็งของล้านนา เป็นการศึกษาโดยการใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลพระไตรปิฎก เอกสารงานวิจัยและจากการสัมภาษณ์ พระสังฆาธิการและผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน ๑๐ รูป/คน โดยมีเครื่องมือการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง และนำมาวิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา นำเสนอในรูปแบบพรรณนา
ผลการวิจัยพบว่า
ประเพณียี่เป็งในล้านนา เป็นวันเพ็ญเดือนยี่ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสองของภาคกลาง การนับเดือนของล้านนานั้น เร็วกว่าภาคกลาง ๒ เดือนอันเนื่องมาจากการนับเดือนของชาวล้านนา เป็นการนับทางจันทรคติ ประเพณียี่เป็งเป็นประเพณีลอยกระทงตามประเพณีล้านนา ที่จัดทำขึ้นในวันเพ็ญเดือน ๒ โดยในพงศาวดารโยนกและจามเทวีวงศ์ มีบันทึกว่าครั้งหนึ่งได้เกิดอหิวาตกโรคขึ้นในแคว้นหริภุญไชย ทำให้ชาวเมืองต้องอพยพไปอยู่เมืองหงสาวดีนานถึง ๖ ปีจึงเดินทางกลับมายังบ้านเมืองเดิม เมื่อเวลาเวียนมาถึงวันที่จากบ้านเมืองไปจึงได้มีการนำเครื่องสักการบูชา ธูป เทียนนำปล่อยลงในน้ำเพื่อแสดงถึงความคิดถึงกัน แสงไฟกระทบกับน้ำ เกิดเป็นเงาแสงเสมือนแสงพะเนียงไฟเป็นระยะดูเหมือน ผีโขมด ที่ออกหากินในเวลากลางคืน ชาวล้านนาจึงเรียกตามตำนานโยนกและจามเทวีวงศ์ว่า “ประเพณีลอยโขมด”
รูปแบบประเพณียี่เป็งในล้านนามีการจัดเตรียมงานในวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เรียกว่า “วันเตรียม” วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เรียกว่า “วันดา” วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เรียกว่า “วันฟังธรรม” ซึ่งมีพิธีกรรมที่ปฏิบัติสืบทอดกันมา คือ การทำบุญตักบาตร (ตานขันข้าว) แสดงถึงความกตัญญูกตเวทีต่อบุพการี การปล่อยว่าวควันหรือว่าวไฟแสดงถึง การบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีและพลังความสามัคคีของคนในชุมชนการฟังเทศน์มหาชาติแสดงถึง การรู้จักฟังสิ่งที่เป็นมงคลต่อชีวิตและการได้พบกัลยาณมิตรที่ดี การจุดประทีปโคมไฟ และการฟังธรรมอานิสงส์ผางประทีป แสดงถึง การบูชาสิ่งที่ควรบูชาตามความเชื่อและความศรัทธา การจุดบอกไฟดอกแสดงถึง จุดเป็นพุทธบูชาประกอบพิธีเทศน์มหาชาติ การลอยโขมดแสดงถึงการขอขมาต่อแม่น้ำคงคาและการส่งความระลึกถึงญาติพี่น้อง
หลักพุทธธรรมในประเพณียี่เป็งของล้านนา ที่ปรากฏได้แก่ หลักบูชา หลักศรัทธาธรรมหลักกัลยาณมิตรธรรม หลักสามัคคีธรรม หลักความกตัญญูกตเวทิตา ที่มีคุณค่าและความสำคัญของต่อชุมชน วิถีชีวิต และจิตใจ หลักพุทธธรรมเหล่านี้ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพสังคมในปัจจุบัน เพื่อความสงบสุขและรักษาประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงาม สนับสนุนให้มีกิจกรรมที่สร้างสรรค์ อันจะสร้างความรู้และความภูมิใจในชุมชนท้องถิ่นสืบไป
Download
|