หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » ณฐณัช แก้วผลึก
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๔ ครั้ง
การปรึกษาทางโหราศาสตร์ตามแนวพุทธจิตวิทยาเพื่อลดความทุกข์ (สาขาวิชาพุทธจิตวิทยา)
ชื่อผู้วิจัย : ณฐณัช แก้วผลึก ข้อมูลวันที่ : ๒๕/๐๓/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูสังฆรักษ์เอกภัทร อภิฉนฺโท
  ชัยสิทธิ์ ทองบริสุทธิ์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

 

ดุษฎีนิพนธ์เรื่อง การปรึกษาทางโหราศาสตร์ตามแนวพุทธจิตวิทยาเพื่อลดความทุกข์มีวัตถุประสงค์เพื่อ ๑) ศึกษาหลักการทางจิตวิทยาและการปรึกษาทางโหราศาสตร์ตามแนวพุทธจิตวิทยาเพื่อลดความทุกข์ ๒) เพื่อสังเคราะห์หลักการให้คำปรึกษาทางโหราศาสตร์ตามแนวพุทธจิตวิทยาเพื่อลดความทุกข์ ๓) เพื่อนำเสนอรูปแบบการปรึกษาทางโหราศาสตร์ตามแนวพุทธจิตวิทยาเพื่อลดความทุกข์ ดุษฎีนิพนธ์นี้เป็นการวิจัยเชิงผสมวิธี ระหว่างการวิจัยเชิงปริมาณ และการวิจัยเชิงคุณภาพ กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วย โหราจารย์จากมูลนิธิสมาคมโหรแห่งประเทศไทยใน            พระสังฆราชูปถัมภ์,สมาคมโหราศาสตร์นานาชาติ, สถาบันโหราศาสตร์ไทย-สากล, สถาบันโหราศาสตร์วิทยา และสมาคมลิขิตบนฝ่ามือ จำนวน ๑๗ รูป/คน และผู้รับคำปรึกษาทางโหราศาสตร์ในมูลนิธิสมาคมโหรแห่งประเทศไทยในพระสังฆราชูปถัมภ์,สมาคมโหราศาสตร์นานาชาติ, สถาบันโหราศาสตร์ไทย-สากล, สถาบันโหราศาสตร์วิทยา และสมาคมลิขิตบนฝ่ามือ จำนวน ๒๖๙ คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย แบบสัมภาษณ์เชิงลึก และแบบสำรวจ สถิติที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย ค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean)

             ผลการศึกษาพบว่า

             ๑) หลักการปรึกษาทางโหราศาสตร์ตามแนวพุทธจิตวิทยาเพื่อลดความทุกข์              ให้ความสำคัญที่ตัวบุคคล โดยสนับสนุนให้ผู้รับบริการ เปิดรับประสบการณ์(ทุกข์) ประเมินตนเองอย่าถ่องแท้ ค้นหาสาเหตุทุกข์ตามความเป็นจริง(สมุทัย) เชื่อมั่นและเต็มใจที่จะพัฒนาตัวเอง(นิโรธ) เพื่อที่จะสามารถเผชิญปัญหาปัจจุบันและอนาคต(มรรค) โดยผู้ให้บริการจะต้องเป็นบุคคลที่มีกัลยาณมิตร ใส่ใจ เข้าใจเรื่องราวและความรู้สึกนึกคิดของผู้รับบริการและยอมรับความแตกต่างของผู้รับคำปรึกษา สัมพันธภาพระหว่างผู้ให้บริการกับ ผู้รับบริการโดยสัมมาทิฐิของผู้ให้บริการปรึกษา   มีความสำคัญมากกว่าเทคนิคใด ๆ

             ๒) การปรึกษาทางโหราศาสตร์ พบว่า โหราจารย์ให้การช่วยเหลือเป็นรายบุคคล ทั้งด้านปัญหาส่วนตัว การศึกษา อาชีพ และครอบครัว เป็นต้น โดยการหยิบยื่นสัมพันธภาพอันดี ระหว่างโหราจารย์และผู้ขอคำปรึกษา เพื่อที่จะได้เปิดเผยตนเอง และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงปรับปรุงตนเอง กระบวนการปรึกษาต้องใช้เวลา กำลังความสามารถและประสบการณ์อย่างต่อเนื่องทั้งสองฝ่าย      ถ้าพบว่าผู้รับคำปรึกษามีเคราะห์ประสบทุกข์ ก็แนะนำให้ใช้สติสัมปชัญญะ ไม่ประมาท ด้วยการเสริมกำลังใจ เมื่อผู้รับคำปรึกษามีโชค ก็เตือนสติไม่ให้ประมาท และหลงระเริงในโชค หลักธรรมของโหราจารย์ ที่สำคัญคือ พรหมวิหาร ๔ การเสนอสัมมาปัญญา หลักสัจจะ โดยทั่วไปส่งเสริมให้ผู้รับคำปรึกษา รักษาศีล ๕ ทำบุญให้ทานเพื่อเสริมกำลังใจ ตามลำดับ

             ผลจากการสำรวจ ผู้รับคำปรึกษา คาดหวังคุณสมบัติของโหราจารย์ ด้านปัญญา เชื่อมั่นและพึงพอใจผู้มีความรู้จริงใคร่ครวญ ตรวจสอบ พูดคุยรายละเอียดก่อนทำนาย และชี้ช่องทางแก้ปัญหา รองลงมาด้านศีล ด้านสังคม และด้านจิตใจ คือมีคุณธรรมจริยธรรม สร้างความรักความสามัคคีหรือการรู้คิด ไม่เห็นแก่ลาภสักการะ และใจเย็นมีอารมณ์ดี และพบว่าโหราจารย์ส่วนใหญ่   ให้คำปรึกษาด้านปัญญา ได้แก่ การแนะนำให้ใช้เหตุผลเพื่อแก้ที่สาเหตุแห่งปัญหา รองลงมาด้านศีล ด้านสังคม และด้านจิตใจ เช่นให้มีความอดทน ให้รักษาศีล การทำบุญให้ทาน และปฏิบัติสมาธิทำจิตใจให้สงบ หรือการแก้ดวงสะเดาะเคราะห์ในรูปแบบต่าง ๆ

             ๓) รูปแบบการปรึกษาทางโหราศาสตร์ตามแนวพุทธจิตวิทยา ควรเป็นแบบเน้นที่ตัวบุคคล ตามกระบวนการอริยะสัจ ๔ เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคคลให้มีความสามารถ ยอมรับ ตรวจสอบวินิจฉัย ปัญหาตนเองได้ ยอมรับความเปลี่ยนแปลงของตนเองและ ผู้อื่น และสภาพแวดล้อมตามความเป็นจริง โดยอยู่บนพื้นฐานของความเป็นกัลยาณมิตรของโหราจารย์ และผู้รับคำปรึกษา      ด้วยคุณสมบัติด้านปัญญา ศีล สังคม และด้านจิตใจที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาที่ปรึกษา

 Download

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕